ประวัติหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย - ค่ายมวยไชยา บ้านช่างไทย

TH / EN
Go to content
หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย


ชีวะประวัติ
พระวิสุทธิญาณเถร
(หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย)
วัดเขาสุกิ
ตำ
บลเขาบายศรี อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี


..........
หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย เป็นชาวจังหวัดร้อยเอ็ด หลวงปู่ได้ถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๘ ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ ปีฉลู เวลาเที่ยงวัน ณ หมู่บ้านเหล่างิ้ว ตำบลจังหาร อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด

..........โยมบิดาชื่อ
สอน นามสกุล มติยาภักดิ์โยมมารดาชื่อ บุญ นามสกุล มติยาภักดิ์
โยมมารดาของท่านเป็นบุตรีคนเล็กของคุณหลวงเสนา ซึ่งเป็นผู้นำศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ในท้องถิ่นนั้น หลวงปู่สมชาย ท่านมีพี่น้องร่วมสายโลหิตเพียง ๑ คน คือ นายหนู มติยาภักดิ์

..........คุณตาของหลวงปู่สมชาย คือ คุณหลวงเสนานั้น เป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของหมู่บ้าน และเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในท้องถิ่นนั้นมาก เพราะท่านเป็นหัวหน้าใหญ่ของหมู่บ้าน เป็นผู้นำของ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็นผู้นำประกอบพิธีกรรมการบูชาเทวดาตามลัทธิความเชื่อของศาสนา และเป็นผู้ปกครองหมู่บ้านได้รับบรรดาศักดิ์ เป็น "หลวงเสนา"

หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย

..........หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ท่านถือกำเนิดในสกุลของผู้นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ขณะที่ท่านได้ถือกำเนิดมานั้น เป็นวันและเวลาที่กำลังจะประกอบพิธีกรรมทางลัทธิศาสนาประจำปีพอดี โดยมีการจัดพิธีบูชาเทวดาประจำปี มีขบวนรื่นเริงสมโภชศักราชใหม่แห่งปี มีขบวนแห่นางเทพธิดานั่งทรงมาบนหลังเสือ พร้อมกับมีรูปวัวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของปีฉลู และเป็นเทพเจ้าของชาวฮินดู โดยจะเริ่มประกอบพิธีกันที่บ้านของหัวหน้าแล้วจึงจะแห่ขบวนไปรอบๆหมู่บ้าน เพื่อความเป็นศิริมงคลของลูกบ้านทุกครัวเรือน (คงจะคล้ายกันกับพิธีแห่นางสงกรานต์ในปัจจุบันนี้นั่นเอง) เมื่อเสียงฆ้องสัญญาณดัง "..มุ้ย ย ย ๆ..ๆ.." ขึ้นมา ก็พอดีกับบุตรีของหัวหน้าซึ่งตั้งครรภ์แก่ และกำลังร่วมอยู่ในพิธีขบวนแห่นั้นด้วย ก็ได้ให้กำเนิดบุตรในระหว่างที่พิธีกำลังจะเริ่มขึ้นพอดี ทำให้ต่างคนต่างก็เข้ามาช่วยปฐมพยาบาลทำคลอด และมัวสาละวนอยู่กับเรื่องการคลอดบุตรจนเวลาเลยผ่านฤกษ์ยามดีที่กำหนดกันไว้ จนตะวันบ่ายคล้อยลง เป็นเหตุให้พิธีต่างๆ ที่กำลังจะดำเนินในระหว่างนั้นต้องหยุดระงับลงโดยปริยาย เสมือนลางบอกเหตุ ว่า..."ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จะไม่มีในท้องถิ่นนี้อีกต่อไป.."

..........จากนิมิตหมายดังกล่าวในครั้งนั้น คุณหลวงเสนาซึ่งเชี่ยวชาญเป็นโหราจารย์อยู่แล้ว จึงได้พยากรณ์หลานชายของท่านเอาไว้ว่า "เด็กคนนี้จะต้องเป็นผู้มาเปลี่ยนแปลงศาสนาเดิมของตระกูลในวันข้างหน้าอย่างแน่นอน" เนื่องจากเหตุการณ์ถือกำเนิดของหลวงปู่สมชาย ทำให้พิธีกรรมต่างๆของศาสนาต้องล้มเลิกลงกลางคันเช่นนี้ ถือเป็นสิ่งบอกเหตุอย่างหนึ่งว่าศาสนาฮนดูในท้องถิ่นนั้นจะสิ้นสุดลงในกาลต่อมา ซึ่งก็ปรากฏว่า ภายหลังจากที่หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ได้อุปสมบทในบวรพุทธศาสนา และได้ศึกษาประพฤติปฏิบัติธรรมจนเกิดความซาบซึ้งในศาสนาพอสมควรแล้ว หลวงปู่ก็ได้นำพุทธธรรมไปอบรมชาวบ้านในท้องถิ่นนั้นจนเกิดศรัทธา ปัจจุบันชาวบ้านในถิ่นนั้นได้หันมานับถือพระพุทธศาสนากันจนหมดสิ้น พิธีกรรมที่เคยทำเหลือไว้เพียงแต่ตำนานเล่าขานกันเท่านั้น

หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย
หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย
หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย


..........โยมมารดาของหลวงปู่ได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่หลวงปู่ยังเล็ก มีอายุประมาณ ๒ ขวบเท่านั้น จึงตกเป็นภาระของคุณตา คือคุณหลวงเสนา ให้การอุปการะเลี้ยงดูหลวงปู่ต่อมา ซึ่งหลวงปู่ก็อยู่กับคุณตาได้ไม่นานนัก คุณตาก็ถึงแก่กรรมจากไปอีก

..........ภายหลังจากคุณหลวงเสนา ผู้เปรียบเสมือนร่มโพธิ์ร่มไทรที่ให้ความร่มเย็น หรือ ดวงประทีปที่ให้แสงสว่างได้ถึงแก่กรรมลงอย่างกระทันหันด้วยอหิวาตกโรคระบาดในครั้งนั้น (สมัยโบราณเรียกกันว่าโรคห่าระบาด) ความรุ่งโรจน์และแสงสว่างได้ดับวูบลง อนาคตมืดมน มองไม่เห็นทิศทางว่าจะดำเนินชีวิตอย่างไรต่อไป

..........มารดาบังเกิดเกล้าจากไปตั้งแต่ท่านยังเล็กมากจนไม่ทราบว่าหน้าตาของโยมมารดานั้นเป็นอย่างไร จากนั้นเวลาห่างกันไม่กี่ปี คุณตาผู้เปรียบเสมือนพ่อและแม่บังเกิดเกล้า ก็มาถึงแก่กรรมไปอีกเป็นคนที่สอง ส่วนโยมบิดานั้นก็ทอดทิ้งไม่สนใจเลี้ยงดูท่านเลย ความว้าเหว่ ความเศร้าโศก ได้เกิดขึ้นอย่างสุดซึ้ง เกินที่จะพรรณนาความรู้สึกในขณะนั้นได้

..........เมื่อเหตุการณ์หรือมรสุมร้ายผ่านไปแล้ว หลวงปู่สมชายก็ได้ไปอาศัยอยู่กับญาติผู้หนึ่งมีศักดิ์เป็นพี่ชาย ในฐานะเป็นลูกผู้พี่ ได้อยู่ร่วมกันด้วยดีมีความสุขและราบรื่น มาได้ระยะหนึ่ง มรสุมลูกใหม่ก็เกิดขึ้นอีกเป็นครั้งที่สาม คือพี่สะใภ้ผู่ที่หลวงปู่ได้อาศัยอยู่ด้วยนั้นได้มาเสียชีวิตลงไปอีก ปล่อยให้ลูกเล็กๆ ๔-๕ คน เป็นกำพร้า หลวงปู่จึงต้องช่วยรับผิดชอบเป็นภาระเลี้ยงดู หลังจากพี่สะใภ้จากไปแล้วพี่ชายก็ประพฤติตัวเกเรมั่วสุมเรื่องอบายมุข ทำตัวเป็นลักเลงหัวไม้ ไม่สนใจภาระหน้าที่ของตน ความเป็นอยู่ภายในครอบครัวทั้งหมดจึงตกเป็นภาระหน้าที่ของหลวงปู่จะต้องรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง ท่านจึงพยายามทุกวิถีทาง เพื่อสร้างฐานะครอบครัวให้ดีขึ้น เทียมบ่าเทียมไหล่คนในหมู่บ้าน หลวงปู่ได้ยึดอาชีพค้าขาย ค้าสิ่งของจิปาถะทั่วไป โดยนำของจากหมู่บ้านไปขายในเมือง ซื้อสิ่งของในเมืองมาขายที่หมู่บ้าน วันไหนค้าขายดีมีกำไรมากหน่อย ก็มักซื้ออาหารของใช้บริโภคมาฝากคนเฒ่าคนแก่ และเด็กๆในหมู่บ้าน หลวงปู่มีอุปนิสัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มาตั้งแต่สมัยเป็นเด็กและติดตัวหลวงปู่มาโดยตลอด ว่างจากค้าขายก็ทำนา หลวงปู่เป็นคนแข็งแรงจึงทำงานได้ทุกอย่างไม่มีเวลาว่างที่จะไปเที่ยวเตร่ อย่างคนอื่น จึงสามารถสร้างฐานะของตัวเองได้ตั้งแต่เป็นวัยรุ่น

..........ช่วงเวลาที่หลวงปู่สมชายดิ้นรนหาเงินสร้างฐานะทางครอบครัวอยู่นั้น ท่านมีอายุเพียง ๑๔ ปีเศษ และต้องหอบหิ้วเลี้ยงดูหลานอีก ๔-๕ คน บ้านที่อยู่อาศัยก็ไม่มี ต้องไปขออาศัยอยู่ใต้ถุนบ้านญาติคนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้รับความเอื้อเฟื้อจากผู้เป็นเจ้าของบ้านเท่าไรนัก เป็นเหตุให้หลวงปู่สมชายต้องดิ้นรน มุมานะพยายามหาเงินเพื่อซื้อบ้านอยู่เป็นของตัวเอง ด้วยโชคชะตาบวกกับความขยันของหลวงปู่ ไม่ว่าจะจับสิ่งใดทำสิ่งใดก็ประสบความสำเร็จไปเสียทุกอย่าง ค้าขายก็ได้รับผลกำไรไปทุกครั้ง ทำนาก็ได้ข้าวกล้าบริบูรณ์เต็มยุ้งเต็มฉางทุกปี หลวงปู่ได้พยายามหาเงินด้วยความสุจริต เก็บทีละเล็กละน้อย ส่วนพี่ชายกลับมีนิสัยตรงข้าม ไม่ทำการทำงาน ประพฤติตัวเกเร มักแอบมาลักขโมยเงินบ้าง ข้าวของบ้างเป็นประจำ จึงรู้สึกเสียใจและน้อยใจในตัวพี่ชายเป็นอย่างมาก ลูกของตัวเองก็ไม่เลี้ยง ไม่ทำหน้าที่ของพ่อผู้ให้กำเนิด แล้วยังมาขโมยเงินที่ท่านหามาได้เอาไปสูบฝิ่น ดื่มเหล้าและเล่นการพนันอีก

..........หลวงปู่สมชายดิ้นรนหาเงินสร้างฐานะด้วยลำแข้ง ด้วยสติปัญญาของท่านเอง โดยใช้เวลาอยู่หลายปี เมื่ออายุได้ประมาณ ๑๗-๑๘ ปี ความพยายามของท่านก็ประสบความสำเร็จน่าพอใจ ได้จัดซื้อบ้านอยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ๑ หลัง ราคา ๗๕ บาท เพื่อให้ตัวเองและหลานๆอีก ๔-๕ คน ได้มีที่อยู่อาศัย และซื้อเกวียน ๑ เล่ม เพื่อเอาไว้บรรทุกสินค้าไปขายในเมืองพร้อมกับวัวราชามัย ๑ คู่ ราคา ๗๕ บาท มีทั้งที่ดิน ที่นา ทรัพย์สิน และสิ่งอำนวยความสะดวก  ด้านอื่นๆนับว่าท่านมีนิสัยรับผิดชอบเป็นหัวหน้าและเป็นผู้นำทีดี คือรู้จักรับผิดชอบตัวเองและส่วนรวมมาตั้งแต่สมัยเป็นวัยรุ่นวัยหนุ่ม ท่านจึงเป็นที่ยอมรับ ยกย่องสรรเสริญ และเป็นที่เคารพนับถือของผู่ที่ใกล้ชิด และคนทั่วไปในหมู่บ้านด้วย หลวงปู่ได้ใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายอยู่ในฆราวาสวิสัยจนอายุได้ ๑๙ ปี ก็เกิดความเบื่อหน่ายต่อความเป็นอยู่ทางโลก ที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย และเต็มไปด้วยความทุกข์ ไม่เที่ยง น่าเบื่อหน่าย และคงด้วยบารมีเก่าในอดีตมาประกอบทำให้ต้องการสลัดสิ่งผูกพันที่อาจจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า ท่านจึงคิดที่จะสละเพศฆราวาส ออกใช้ชีวิตเป็นนักบวชในบวรพระพุทธศาสนา เพื่อแสวงหาความพ้นทุกข์และความสุขอันแท้จริงของชีวิตต่อไป

(คัดลอกมาจากหนังสือ ชีวประวัติและธรรมะ ของ "หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย วัดเขาสุกิม")


..........หลวงปู่สมชายนั้นได้บวชเป็นสามเณรเมื่อวันจันทร์ ที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๗ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๗ ปีวอก ที่วัดเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งก็ไปตรงกับวัน “เชษฐีปูรณิมา” ของชาวฮินดูอีก ซึ่งชาวฮินดูถือว่าวันนี้เป็นวันเริ่มต้นการเข้าพรรษาเป็นเวลา ๔ เดือนของเหล่านักบวชในศาสนาฮินดู ซึ่งก็จะคล้ายกับวันเข้าพรรษาของพระภิกษุสงฆ์ในศาสนาพุทธของเราเช่นกัน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.luangpumun.org/
http://www.watkhaosukim.com/


Back to content