ประวัติมวยไชยา - ค่ายมวยไชยา บ้านช่างไทย

TH / EN
Go to content
มวยไชยา

......... มวยไชยาเป็นศิลปะการต่อสู้ของไทย ที่มีบทบาทสำคัญในการปกป้องบ้านเมืองมาตั้งแต่โบราณกาล มวยไชยามีที่มาจาก พ่อท่านมา แห่งวัดทุ่งจับช้าง ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งแต่เดิมก่อนพ่อท่านมาจะเข้าอุปสมบทนั้น ท่านเป็นทหารอยู่ในกรุงเทพฯ ดังนั้นมวยไชยาที่แท้จริงแล้วน่าจะเป็นมวยที่มีที่มาอันยาวไกลยากที่จะสืบสาวได้

.........เหตุที่มวยของพ่อท่านมามีชื่อเรียก ติดปากว่า “มวยไชยา” นั้นสืบเนื่องจากที่ท่านได้เบื่อชีวิตการเป็นทหารและเบื่อต่อฆราวาสสมบัติ ท่านจึงได้ออกบวชแล้วได้เดินธุดงค์เรื่อยไป จนได้ไปอยู่ที่วัดทุ่งจับช้าง ซึ่งในขณะนั้นเองท่านได้เมตตาถ่ายทอดศิลปะการต่อสู้ของไทยให้กับประชาชนที่ นั่น หนึ่งในลูกศิษย์ของท่าน ก็คือ ท่านพระยาวจีสัตยารักษ์(ขำ ศรียาภัย) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองไชยา ณ กาลนั้นเอง มวยไทยสายพ่อท่านมาจึงถูกเรียกขานจนติดปากว่า “มวยไชยา”

......ท่านพระยาวจีสัตยารักษ์ ซึ่งเป็นเจ้าเมืองไชยา  ท่านก็ได้ถ่ายทอดวิชานี้ให้แก่ลูกๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ นายเขตร ศรียาภัย และหลังจากที่นายเขตร ศรียาภัย ได้ร่ำเรียนจากบิดาคือท่านเจ้าเมืองแล้ว นายเขตร ศรียาภัย ยังได้ร่ำเรียนจากครูมวยอื่นๆอีกรวมแล้วถึง 12 ครู

......ซึ่งในกาลต่อ มาท่านได้ถูกขนานนามว่า “ปรมาจารย์” ซึ่งมวยไชยาตำรับของ พ่อท่านมาที่สืบทอดมายัง ท่านปรมาจารย์เขตร ศรียาภัยนั้น ได้ถูกเกลา ถูกวิเคราะห์ ต่อเติมให้เข้ากับยุคสมัยและยังคงสามารถใช้ได้ในเหตุการณ์จริง

......มวยไชยาตั้งแต่ครั้งอดีตจะสอนตั้งแต่การป้องกันตัว และจะเป็นการป้องกันตัวแบบ ป.คือ ป้อง ปัด ปิด เปิด เป็นท่าสำคัญ ท่า ๔ ป.ของไชยานั้นจะป้องกันตัวได้ตั้งแต่หัวแม่เท้ายันเส้นผม เมื่อผู้ได้ฝึก
ป. จนมีความชำนาญแล้ว จะสามารถเข้าใจและจะรู้ตัวเองว่า ได้ยืนอยู่หน้าประตูของการใช้ลูกไม้ต่างๆ แล้ว

......ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า มวยไชยาเป็นมวยที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันตัว ดังนั้นมวยไชยาจึงเป็นหนึ่งในสายมวยที่ถูกเลือกให้เป็น กรมทนายเลือก คอยดูแลอารักขาความปลอดภัยพระมหากษัตริย์ในสมัยโบราณ และยังเป็นหนึ่งในสายมวยที่ได้รับฉายา “หมื่นมวยมีชื่อ” เมื่อครั้งที่นายปล่องจำนงทอง ใช้ท่าเสือลากหางอันเป็นท่าลูกไม้สำคัญเข้าทุ่มทับนักมวยจากโคราช ลงไปสลบหน้าพระที่นั่งพระพุทธเจ้าหลวง

......ดังนั้นสมบัติของชาติชิ้นนี้จึงควร ค่าแก่การอนุรักษ์ ส่งเสริม สานต่อให้เป็นรูปธรรม เนื่องจากเป็นวิชาหลวง เป็นของเจ้านายชั้นสูง ไม่ใช่วิชาการต่อสู้ที่ชกกันเพื่อการเลี้ยงชีพเพียงอย่างเดียว ยังหมายถึงปกป้องแผ่นดินเกิด ตลอดจนการอารักขาเบื้องพระยุคลบาทอีกด้วย


Back to content