เกร็ดความรู้จากรายการเปิดกรุมวยไชยา - ค่ายมวยไชยา บ้านช่างไทย

TH / EN
Go to content
1 2 3 4 5 6 7 8 9 10

    
    ความระมัดระวังเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างยิ่ง  เป็นสเน่ห์ของมวย ทั้งมวยไทย มวยสากล ต้องมีความระมัดระวัง ยิ่งมวยไทยต้องระวังเป็นพิเศษ ทีนี้ในตอนแรก เวลาฝึกก็ระวังไม่ให้ผิด กำหมัดให้ถูกต้อง พันแขนให้ถูกต้อง พันหมัดให้ถูกต้อง ทำทุกอย่างด้วยความระมัดระวัง แล้วความระมัดระวังอันนั้น ก็จะส่งผลในการระวังตัวของท่าน

[image:image-0]

    สมัยเมื่อท่านปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย ยังฝึกมวยอยู่ ท่านก็ไปเห็นท่านปรมาจารย์กิมเส็ง ทวีสิทธิ์ กำลังสอนลูกศิษย์ถึงการรับเตะด้วยฝ่ามือ ท่านปรมาจารย์เขตร ก็ด้วยความเป็นวัยฉกรรจ์ ก็เข้าไปบอกว่า แล้วถ้าเค้าเตะเป็นลมพัดล่ะครู ท่านปรมาจารย์กิมเส็ง ก็บอกว่า ลื้อเตะลูกบอลแตกมากี่ลูกแล้ว ท่านปรมาจารย์เขตรก็บอกว่า ๒ ลูกครับ ท่านก็บอกให้เตะท่าน ท่านรับ ๑ ๒ ๓ เตะครั้งที่สาม พอจะต่อย ท่านยันคาง ล้มลงบนกอกล้วย นั่งลงที่กอกล้วยเลย ท่านปรมาจารย์กิมเส็งก็ถามบอกว่า ลมหยุดพัดแล้วเหรอ ท่านปรมาจารย์เขตร ก็ยกมือ บอกหยุดแล้วครับ นี่คือประวัติของท่านปรมาจารย์เขตรกับปรมาจารย์กิมเส็ง ที่ก่อนที่จะเป็นลูกศิษย์ลูกหากัน เค้ามีการทดสอบกัน มันต้องรู้แบบ จริง จริง

[image:image-1]  

    ท่านปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย ท่านไปซ้อมกับลูกศิษย์ ท่านปรมาจารย์กิมเส็ง ลูกศิษย์ท่านปรมาจารย์กิมเส็งเนี่ย หมัดหนักมาก แต่ว่าท่านปรมาจารย์เขตร เฆี่ยนจนแขนห้อยหมดทุกคน จนเหลือแต่ท่านปรมาจารย์กิมเส็ง ท่านปรมาจารย์เขตรเล่าว่า เวลาซ้อมกับท่าน ชกไปเนี่ย ห่างคืบหนึ่งทุกที แล้วก็ท่านปรมาจารย์กิมเส็งก็จะเอามือมาลูบหัวท่านบอกว่า อย่าน่าไอ้เขตร ทุกครั้งไป จนกระทั่งท่านบอกว่าท่าปรมาจารย์กิมเส็ง ทวีสิทธิ์ ฟุตเวอร์คเหมือนเทวดา


    สมัยก่อน เวลาเค้าชกมวย จะชกกันบนลานดิน เรียกว่างานวัดงานสมโภชน์ อย่างมีเวทีมวยก็ยกพื้นขึ้นมา แล้วก็มีเชือก มีมุมอยู่ ๔ มุม กรรมการก็จะยืนอยู่ ๔ มุมนะครับ เวลานับยก หนึ่งยกเค้าจะเรียกเป็นหนึ่งอัน คือเอากะลาตาเดียวมา เจาะรู แล้วก็วางบนน้ำ พอกะลาจมก็หมดยกหรือหมดอัน กรรมการในเวทีไม่มีสิทธิ์จะเข้าไปสั่งให้ชกให้อะไรทั้งสิ้น เค้าจะให้เกียรตินักมวย ถือว่านักมวย มีสมองของตัวเอง มีความคิด จะชกเมื่อไหร่ จะหลอกล่อกันแค่ไหนก็ได้จะไหว้ครูกันนานแค่ไหนก็ไม่มีใครว่านะครับสมัยก่อน แล้วก็สมมุติว่าชกแพ้กันเนี่ย เช่นมีอยู่ ๕ คู่ คู่ที่ ๑ ต่อยกันน๊อค เค้าก็จะเอาไปเข้าพุ่ม คู่ที่ ๒ ขึ้นมาชกต่อ คู่ที่๓ ที่ ๔ ที่ ๕ พอชกกันหมด ๕ คู่ ก็มาไล่คู่ที่ ๑ เค้าก็จะไปถามว่าจะชกต่อหรือเปล่า คือ การน๊อคไม่ได้หมายถึงแพ้ คำว่าแพ้คือยอมแพ้ ถ้าน๊อคไปแล้ว ปลุกขึ้นมาแล้วยังอยากสู้ต่อ ก็ยังได้ นี่ก็เป็นการชกมวยเมื่อสมัยโบราณ จะเป็นอย่างนี้นะครับ

    เวลาท่านทำอะไรทุกอย่างขอให้ตั้งใจนะครับ อย่าทำแบบสุกเอาเผากิน เวลาเราทานข้าว ถ้าเราไม่ตั้งใจเนี่ย บางทีก็สำลักนะครับ เหมือนกัน เราโตมาด้วยความตั้งใจอย่างไร เราฝึกมวย เราก็ต้องฝึกด้วยความตั้งใจอย่างนั้นนะครับ
    
    สมัยก่อนเวลาเค้าชกมวย เค้าคาดเชือกเพื่อป้องกันกระดูกหลังมือ ทำให้นิ้วมือมีที่กำที่จับให้แน่นนะครับ มวยไชยาจะคาดเชือกแค่ข้อมือ ส่วนมวยภาคกลางหรือลพบุรี จะคาดประมาณถึงครึ่งแขน ส่วนมวยอีสานมักจะคาดถึงข้อศอก อย่างนายทับ จำเกาะ เนี่ยคาดถึงข้อศอก แล้วก็ถักแข้งสิงห์ตลอด มีก้นหอยใหญ่ๆตลอดแนว การคาดเชือกก็เพื่อป้องกันกระดูกหลังมือและนิ้วมือนั่นเอง

    ความระมัดระวัง ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ เป็นสิ่งจำเป็นจำเป็นนะครับ ระเบียบทุกข้อ มันก็เหมือนกับว่าเราตอกตะปูลงไป เราสร้างเก้าอี้ตัวหนึ่ง เราตอกตะปูที่ขาเก้าอี้ ที่พนักพิง ที่ไม้วางเวลานั่ง สมมุติว่า ตัวหนึ่งตัวใดมันถอน หรือมันคลอน ระเบียบของเก้าอี้ หรือความแข็งแรงของเก้าอี้ตัวนั้น ก็ต้องสูญเสียไปนะครับ


    สมัยก่อนมีมวยอยู่ทุกพื้นที่ เพราะเมืองไทยเป็นเมืองมวย แต่ที่สำคัญก็มีอยู่ ๓ เมือง ที่มีชื่อเสียง คือ หมัดหนักโคราช ฉลาดลพบุรี ท่าดีไชยา นะครับ หมัดโคราชจะเป็นหมัดเหวี่ยงควาย ก็จะได้เป็นหมื่นชงัดเชิงชกครับ ส่วนมวยลพบุรี เป็นมวยหมัดตรง ก็จะได้เป็นหมื่นมวยแม่นหมัด หรือหมื่นมือแม่นหมัด ส่วนไชยา จะใช้ท่าเสือลากหาง คือย่อเตี้ยเข้าไปทุ่มคู่ต่อสู้ลงไปสลบหน้าพระที่นั่งพระพุทธเจ้าหลวง ก็เลยได้เป็น หมื่นมวยมีชื่อ ทั้งหมดนี้คือที่มาของ หมื่นมวยมีชื่อ หมื่นมือแม่นหมัด หมื่นชงัดเชิงชก
    การป้องกันตัวที่ดีที่สุดนั่นก็คือ การป้องกันจิตใจของท่านเองไม่ให้คิดผิด ทำผิด หรือว่าไปเดินทางผิด ก็จะมาจากจิตใจของท่านนะครับ ต้องป้องกันให้ดีนะครับ


    สมัยก่อน มวยไชยา เวลาขึ้นชกไม่ใช่ของง่ายเลยนะครับ นักมวยใหม่ที่ต้องการจะชก ก็ต้องมาทดสอบด้วยการนั่งบนครกตำข้าวที่คว่ำลงครับ แล้วก็เอาแป้งประที่หน้าซะขาวเลย ขึ้นไปนั่ง นั่งยองๆ ก็ได้ นั่งขัดสมาธิก็ได้ แล้วก็มีนักมวยรุ่นพี่ เข้าไปชกไปเตะไปต่อย เข้ามาทีละคน ต้องปัด ต้องปิด ต้องเปิด และต้องรับให้ได้ถึง ๓ คน ถึงจะชกเวทีได้

  

    ความอ่อนน้อมถ่อมตน เชื่อฟังครูบาอาจารย์ เป็นสิ่งสำคัญนะครับ มรดกของชาติทุกๆแขนง ย่อมมีครูบาอาจารย์ มวยไชยาก็เช่นเดียวกันนะครับ
    เวลาเป็นของมีค่านะครับ วัน เวลาผ่านไป ไม่หวนกลับคืน วันนี้เราเด็ก ต่อไป เราก็โต เป็นหนุ่มเป็นสาว ไม่มีใครที่ย้อนกลับไปเด็กได้ มรดกของชาติก็เช่นกัน ต้องหมั่นดูแลรักษา หมั่นฝึก หมั่นเข้าใจ หมั่นทำความเข้าใจกับบทเรียนให้ดีนะครับ

[image:image-0]

    วันนี้เราจะมาเล่าเรื่องราวของมวยสมัยโบราณที่ชกกันถึงตายก็คือ มวยคู่ของครูตันกี้ ยนตรกิจ กับ โนรีซึ่งเป็นมวยไชยา ครูตันกี้ ยนตรกิจ ก็เป็นต้นตำรับฉบับม้าย่อง ทีนี้โนรีชก ทั้ง ๖ วันเนี่ยไม่มีใครสู้ได้เลยนะครับ แล้วก็ไปชกลูกศิษย์ครูตันกี้ ครูตันกี้ก็โมโหขึ้นชกในวันที่ ๗ ขึ้นไปชกปั๊ป ครูตันกี้ก็ชกกับโนรี โนรี ก็กระโดดข้ามหัว อีท่าไหนไม่รู้ อาจจะชก อาจจะอะไรไม่ทราบนะครับ กระโดดข้ามหัว เอาส้นเท้าเตะหน้าผากครูตันกี้แตก ครูตันกี้ก็โมโห ทีนี้ก็เข้าไปเบียด เบียดปั๊ป ควักลูกตาหลุดเลยนะครับ ครูตันกี้ควักลูกตาโนรีหลุดเลย โนรีก็โมโหเหมือนกัน ก็ให้พี่เลี้ยงตัดสายตาที่ห้อยออกมาทิ้ง ครูตันกี้ก็ไปเบียด หักแขนอีก เหลือตาข้างเดียว มองอะไรก็ไม่ค่อยเห็นแล้วใช่ไหมฮะ เข้าหักแขนอีก ก็แพ้ไป แล้วก็ไปเป็นบาดทะยักตายที่บ้าน
    ท่านปรมาจารย์ กิมเส็ง ทวีสิทธ์ อาจารย์คนสุดท้ายของท่านปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย กล่าวไว้ว่า นาทีทองมีอยู่ตลอดเวลาของการต่อสู้ ขอให้ท่านหมั่นฝึกฝนให้ดี ท่านจะมีโอกาสได้ใช้นาทีทองนะครับ

[image:image-0]

    ท่านปรมาจารย์ กิมเส็ง ทวีสิทธ์ อาจารย์คนสุดท้ายของท่านปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย กล่าวไว้ว่า นาทีทองมีอยู่ตลอดเวลาของการต่อสู้ ขอให้ท่านหมั่นฝึกฝนให้ดี ท่านจะมีโอกาสได้ใช้นาทีทองนะครับ

    
อะไรที่สำคัญที่สุดครับเวลาต่อสู้ ขานั่นเอง ขาสำคัญที่สุด มวยสากลก็ต้องใช้ขา ยูโด คาราเต้ ก็ต้องใช้ขา มวยไทยยิ่งต้องใช้ขา ถ้าเราเสียขาไปแล้ว เราก็จะเสียอย่างอื่น จะไปต่อยเค้า จะไปศอกเค้า ไปเข่าเค้า ก็ไม่มีทางที่จะทำได้นะครับ

สมัยเมื่อพ่อท่านมาอุปสมบท คือก่อนหน้านี้ท่านเป็นทหารเอก แล้วมาอุปสมบทย้ายไปอยู่ที่วัดทุ่งจับช้าง ก่อนจะเป็นวัดทุ่งช้างนั้นก็มีที่มา คือท่านปักกลดอยู่ที่ทุ่งหนึ่ง ก็มีชาวบ้านไปกราบนมัสการ กราบเรียนท่านว่ามีช้างเกเร ๗-๘ เชือก เข้ามาทำลายเรือกสวนไร่นา พ่อท่านมาก็บอกว่า ถ้ามันเกเรนักก็ให้มันอยู่ในกะลานี่ละ เอากะลามาครอบที่พื้น พออาทิตย์ สองอาทิตย์ผ่านไป ชาวบ้านเข้ามากราบนมัสการ เรียนบอกท่านว่า ช้างมันไม่มากวนแล้ว ท่านก็บอกว่า มันหายดื้อแล้วก็ปล่อยมันไป พอเปิดกะลาขึ้นมา รอยเท้าช้างเล็กๆ เต็มพื้นทรายไปหมดเลย ชาวบ้านก็รวบรวมจำนวนทรัพย์ สร้างวัดทุ่งจับช้างให้ท่าน นี่คือที่มาของท่านปรมาจารย์มวยไชยา พ่อท่านมา แห่งวัดทุ่งจับช้างนะครับ

    
    สิ่งที่ท่านต้องระมัดระวัง เวลาต่อสู้ก็คือ ดวงตาของท่านเอง แล้วก็ขาที่ท่านยืน ดวงตาทำให้ท่านมองเห็น ขาของท่านทำให้ท่านสามารถจะเข้า สามารถจะออก สามารถจะหนี ด้วยขาของท่านนั่นแหละนะครับ
[image:image-0]
    
    สาเหตุของการเลิกคาดเชือกในการชกมวยคือ นายเจีย แขกเขมรนะครับ ถูกนายแพ เลี้ยงประเสริฐ ต่อยเข้าไปที่ลูกกระเดือก คือจุดกลืนถ่าน ท่านปรมาจารย์เขตร เรียกว่าจุดกลืนถ่าน ก็ลงไปเลย ลงไปสลบ หามไปโรงพยาบาล ก็ไปตายนะครับ ไปตายเพราะไปเข้าจุดสำคัญ ลูกกระเดือกแตก เป็นเหตุทำให้เลิกคาดเชือกกันตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา นะครับ
[image:image-0]
     
    สมัยเมื่อท่านปรมาจารย์เขตร ท่านสอนครูทองหล่อ ยาและ ท่านก็มีวิธีการสอนที่ไม่ยาก ท่านก็ให้คอยดูสุนัข เวลามันกัดกัน ท่านก็ถามว่า ทอง สุนัขที่ฉลาด เวลากัดกัน ตัวที่ฉลาดมันกัดที่ไหน ครูทองก็งง หายไปหลายวัน ท่านก็ไปเห็นสุนัขมันกัดกัน ไอ้ตัวที่เก่ง มันก็จะกัดที่ข้อ ก็ไปบอกอาจารย์เขตร อาจารย์เขตรก็บอกว่า เอ่อนั่นซิ หมาฉลาดเนี่ย อย่างหมาไทยจะกัดข้อ หมาฝรั่งจะกัดคอ หมาไทยกัดข้อปั๊ป ร้องเอ๋งเลย
    
    สมัยเมื่อผมอายุ ๑๖-๑๗ปี ผมได้มีโอกาสดูมวยชั้นครูชกกับคนไทยด้วยกันนะครับ ตัวนักมวย ที่ว่าผมว่าเก่งเนี่ย อายุ ๓๐ แล้ว ชื่อว่า แสนชัย ศรีสมภพ เมื่อก่อนชื่อ แสนชัย เทิดไทย นะครับ ท่านเชื่อไหม ยกที่ ๑ แสนชัย ศรีสมภพ ก็เตะแต่ขา ยกที่ ๒ ก็เตะแต่ขา ยกที่ ๓ ก็เตะแต่ขา ซ้ำๆที่ พอยกที่ ๕ เลือดของคนที่ถูกเตะเนี่ยไหล ลุกไม่ไหว ลงไปกราบเลยนะครับ แสนชัย ศรีสมภพ เเป็นมวยที่ผมชอบ ท่านเป็นนักมวยที่ฉลาด ฉลาดจริงๆนะครับ ท่านชกตอนนั้นอายุ ๓๐ แล้ว ก็ถือว่าเป็นครูคนหนึ่งของผมเหมือนกันครับ

    
    ครับ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อันตรายจริงๆนะครับ เรารู้นิดหนึ่ง เราว่าเรารู้มาก เรารู้แค่นี้ เราเอาไปสอนอีกแบบหนึ่ง ปัจจุบันนี้นะครับ มวยไชยาของเราก็มีสอนหลายๆท่านเหลือเกิน ก็อยากจะฝากเตือนไปว่าเรารู้แค่ไหน ก็สอนแค่นั้นนะครับ บางท่าน ครูบาอาจารย์สอนแบบนี้ เวลาไปสอน กลับเปลี่ยนแปลงไปซะอีกแบบหนึ่ง การหัก หักแบบนี้ แต่ไปเอาวิชามวยปล้ำไปหักอีกแบบหนึ่ง อันตรายนะครับ ขอให้กลั่นกรองให้ดีว่าครูบาอาจารย์เรา เป็นสิ่งสำคัญ เราต้องให้ความเคารพวิชาของบรรพบุรุษนะครับ

    สมัยก่อนที่ท่านปรมาจารย์เขตร สอนลูกไม้ต่างๆมากมายนะครับ ไม่ว่าจะเป็นดับชวาลา ปิดปกชกด้วยศอก พิงแข้ง ปักลูกทอย ท่านก็สอน เราก็ฝึกกันไป จากช้าๆไปเร็ว ก็จะมีลูกศิษย์ หลายท่านที่ฝึกตามไป ก็มีคนหนึ่งถามว่า แล้วถ้าไม่ทันละครับครู ท่านปรมาจารย์เขตรหัวเราะ แล้วก็บอกว่า "ไม่ทันก็หามซิวะ" ไม่ทันเราก็โดน เพราะฉะนั้นก็ฝึกให้มันทันซิครับ

  สมัยเมื่อก่อน ผมเรียนกับท่านปรมาจารย์เขตร เข้าไปก็ไม่ใช่ว่าขึ้นครูกันเลยนะครับ ถ้าเข้าไปขึ้นครูก่อนนี่แย่เลย บางทีเรียนไป ๒ ,๓ วันทิ้ง หนี ขึ้นครูซะแล้ว ไม่ใช่นะครับ ครูบาอาจารย์ท่านจะดูว่าคนไหนรักวิชาจริงหรือไม่ อย่างผมเรียน ๓ เดือนขึ้นไปนะครับ ท่านถึงเรียกให้มาขึ้นครู การขึ้นครูก็มี ขัน ผ้าขาวม้า ดอกไม้ ธูปเทียน เงิน ๖ บาท นะครับ และเมื่อขึ้นครูแล้ว ก็ถือว่าจบ ขึ้นครูแล้วไม่มีครอบ ไม่มีอะไรต่อนะครับ ขึ้นครูทีเดียวก็จบแล้ว

    ทีนี้การไหว้ครู สมัยก่อนเวลาจะขึ้นชกเค้าไหว้ครู เพื่อ ๑. ระลึกถึงครูบาอาจารย์ ว่าใครเป็นครูเรา เราก็ระลึกถึงด้วยท่าครูที่เราเรียนมาจากครูนี่แหละ ระลึกไปด้วย ย่างไปด้วย ๒.เวลาเรามีจิตใจที่กลัว หรือหวาดกลัวหรือไม่พร้อม เราก็จะได้ทำสมาธิ หรือดูสถานที่ ทำเล ดูดวงตะวัน ดูอะไรต่างๆไปในตัว นี่ก็คือ สมัยก่อนเค้าจะ เรียนก่อนนะครับ แล้วขึ้นครูทีหลัง และการไหว้ครูใช้บนเวทีเท่านั้น

   
    พละกำลังวังชาของเรา มันจะอยู่กับเราก็ตอนยังหนุ่ม หลังจากนั้นจะร่วงโรยลงไป แต่สิ่งที่ไม่ร่วงโรย ยังคงอยู่ตลอดและมีแต่จะมากขึ้น ก็คือวิชาความรู้นั่นเองครับ

    สมัยก่อนเค้าฝึกกันหลายอย่างมากเลย การผ่าฟืน หาบน้ำ แต่ว่า อย่างหนึ่งก็คือลูกมะนาว สมัยก่อน ไม่มีพั๊นชิ่ง ไม่มีอะไรก็เอาลูกมะนาวนี่แหละ เอามาแขวนรอบ ระยะห่างของแต่ละลูกคือเว้นให้ห่างประมาณ ๔-๕ ลูกมะนาวต่อกัน แขวนสูงบ้าง ต่ำบ้าง ทั้งชกทั้งปัด พอมันเหวี่ยงมาโดนหน้าก็หลบ ส่วนใหญ่ลูกมะนาวก็จะโดนเราประมาณ ๔,๕ ลูกนะฮะ ครูบาอาจารย์ก็จะเฉยๆไว้ จนกระทั่งท่านก็มาเฉลยว่าหลบไม่ได้หรอก ประมาณ ๔,๕ ลูกก็จะโดนเรานะครับ นี่คือสมัยก่อน เค้าจะฝึกกันอย่างนี้ เพราะสมัยก่อนเค้าไม่มีอุปกรณ์ เค้าก็ใช้ลูกมะนาวนะครับ

    วิชามวยนี่นะครับเป็นวิชาที่แปลก บางคนบอกว่าต้องไปเรียนกับนักมวยถึงจะเป็นมวย บางคนบอกว่า คนไม่ได้ชกมวยก็จะไม่เป็นมวย มันก็ไม่ใช่นะครับ วิชามวยเนี่ยมันไม่ได้อยู่กับนักมวยเสมอไป นักมวยเค้าชก เพื่อหาเลี้ยงชีพใช่ไหมครับ คนที่ชกมวยก็ไม่จำเป็นต้องมีวิชามวย อย่างท่านปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย ท่านชกมวยมาแค่ ๒ หน เพราะว่าท่านเป็นลูกเจ้าเมือง แต่ว่าท่านมีวิชามวยอยู่เต็มตัวของท่าน ท่านเรียนถึง ๑๓ ครู ส่วนครูทองหล่อ ยาและก็เหมือนกัน ท่านไม่ได้มีอาชีพเป็นนักมวย แต่ท่านชกถึง ๒๐๐ กว่าครั้ง แต่ไม่ใช่อาชีพ นี่ก็คือคนเป็นมวยไม่จำเป็นต้องชก คนชกก็ไม่จำเป็นต้องเป็นมวย


    สมัยก่อนเมื่อจะเรียนมวย ต้องดูร่างกายตัวเองก่อน ครูบาอาจารย์ก็ดูก่อนว่าลูกศิษย์คนไหนร่างกายยังไม่แข็งแรง ก็ไล่ไปผ่าฟืน ขุดดิน หาบน้ำ นี่เป็นกุศโลบายของการสอน เมื่อก่อน ไม่มีฟิตเนส ไม่ได้มีดัมเบลยกกันใช่ไหมครับ ก็ฟันฟืนไปหาบน้ำไป ก็เกิดความแข็งแรงขึ้นไปในแต่ละวัน นี่คือนโยบายการสอนตั้งแต่สมัยโบราณนะครับ ก็สอนกันแบบนี้
     
    สมัยเมื่อท่านปรมาจารย์เขตรไปต่างประเทศ ก็มีฝรั่งมังค่าทั้งหลายก็มาคุยกับท่าน แม้กระทั่ง ร๊อคกี้ มาเซียโน่ นะครับ ก็มาคุยกับท่าน ทีนี้ในกลุ่มฝรั่งนั้น ก็มีคนที่สนใจสงสัยว่า ลูกฉัดของมวยไชยาจะรุนแรงขนาดไหน ท่านปรมาจารย์เขตรก็ฉัดกำแพงให้ดู ทีนี้ปรากฏว่าที่พื้นมันมีน้ำอยู่ ฝรั่งก็ไม่รู้ พอท่าน ยกขาฉัดก็ลื่นไถลไป เสียงดังปัง ปรากฏว่ากำแพงแตกเลย ท่านก็เล่าเป็นมุกตลกให้ผมฟัง ฝรั่งไม่รู้ว่ามีน้ำอยู่ ท่านลื่นไปฉัดกำแพง แต่จริงๆแล้วท่านก็ฉัดหนักอยู่ด้วย ยิ่งลื่นไปก็กำแพงก็ร่วงกราวเลย ฝรั่งตกใจกันใหญ่




    ชั่วโมงบินในการฝึกฝนเป็นเรื่องสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ไม่ใช่ว่าเราเรียนปั๊ป เราใหม่อยู่เราไปชกกับคนที่ชกมาร้อยครั้งสองร้อยครั้ง หนึ่ง กระดูกผิดกัน สองประสบการณ์ ในการหลบอวัยวุธผิดกัน แต่ถ้าเราเรียนจนสมบูรณ์แล้ว เราซ้อมจนสมบูรณ์ และเราไปหาคู่ซ้อมจนสมบูรณ์แล้ว เราอาจจะชกแค่ครั้ง สองครั้ง ชนะคนชกเป็นร้อยก็ได้เหมือนกันนะครับ

    นักมวยสมัยก่อนเค้าจะตื่นก่อนพระอาทิตย์ขึ้น แล้วก็จะวิ่ง แล้วเวลาวิ่งเค้าก็วิ่งไปตามท้องนา ถ้ามีรอยเท้าควายตามพื้น เค้าก็จะล้มลงเกลือกกลิ้งเพื่อให้ผิวหนังมันแข็ง เหมือนกับว่าเรานวดด้วยอะไรสักอย่าง ที่มันทำให้ผิวหนังเกิดความแข็งแรงขึ้น นี่เป็นนโยบายของโบราณนะครับ




    ฝึกมวยก็ต้องมีเจ็บบ้างนะครับ อย่างเช่นการฝึกรับหมัด เวลารับพลาดก็ต้องมีเจ็บบ้างนิดหน่อย ฝึกรับเตะ ถ้าเรารับไม่ได้ก็โดน มันก็มีเจ็บบ้างนิดหน่อย ความอดทนเป็นเรื่องสำคัญ เจ็บนิด เจ็บหน่อยก็ไม่ใช่จะท้อซะทีเดียว
[image:image-0]

    สมัยก่อนนี่ เค้าจะคาดเชือกกันเวลาขึ้นสังเวียน หรือจะไม่คาดนั่นก็แล้วแต่ พอคาดเสร็จเค้าเอาลูบหน้าตัวเองให้ดู ลูบหน้าตัวเองเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ แล้วเวลาคาดเนี่ย เค้าก็จะนั่ง มีพี่เลี้ยงคาดมือละคนเลยนะครับ ท่านปรมาจารย์บอกว่า คนไทยไม่ใช่ว่าโหดร้ายถึงขนาดเอาแก้วไปโรย เอาอะไรไปโรย เวลาคาดเชือก คาดเสร็จไม่ใช่เอาไปจุ่มน้ำนะครับ คาดเสร็จปั๊ปเค้าก็พ่นน้ำ พอแห้งปั๊ป มันจะตึงเป๊ะเลย แล้วการถักก้นหอย ถักก็ได้ไม่ถักก็ได้ อย่างโคราชก็จะถักโตๆ ไชยาก็จะถักเรียงเล็กๆ แข็งปึ๊ก โดนก็เหมือนแก้วเลย

    การฝึกมวยต้องฝึกให้มีครูอยู่ข้างใน ก็คือว่าฝึกจนกว่าท่าครูสิงอยู่ข้างใน หมายความว่าเราเดินถนน เราไม่ได้ยกท่าครูใช่ไหมครับ พอเจอเหตุการณ์อะไรขึ้นมาเหมือนกับเรามีครูตลอด ยกอัตโนมัติได้ตลอดเวลา คือจะมีครูแนบแน่นอยู่ในตัวเรา นี่คือการฝึกมวยที่ถูกต้องนะครับ

    วันนี้อธิบายสามขุมหน่อยหนึงดีกว่านะครับ สามขุมเนี่ยบางคนก็บอกว่าขุมที่หนึ่ง หมายถึงการยืน แล้วก็ ก้าวไปเป็นขุมที่สาม ก็คงไม่ใช่นะครับ เพราะถ้ามันอยู่ที่การยืน เราก็ต้องแพ้สุนัขแน่เลย สุนัขมีตั้งสี่ขุม

สามขุมจริงๆแล้วหมายถึง ขุมที่หนึ่งก็คือสติ เราต้องมีสตินะครับ สติคือความรู้สึกตัว ไม่เมา ไม่หลับ ไม่ง่วง ขุมที่สองก็คือครู ต้องมี ถ้าเราไม่มีครูเราไม่รู้ ครูเป็นผู้ชี้แนะนะครับ เราต้องมีครู ขุมที่สามจะเกิดจากขุมที่หนึ่ง กับขุมที่สอง จะทำให้เกิดความชำนาญเนื่องจาก ตัวเรามีความขยันขันแข็ง มีสติที่ดี มีครูบาอาจารย์ที่ดีนั่นเองนะครับ

    ครับเวลาต่อสู้นะครับ เราต่อสู้กับคู่ต่อสู้ของเรา บางคนก็ไล่ต่อยเค้า บางคนก็ไล่เตะเค้า คู่ต่อสู้ก็วิ่งหนี ถ้าเผื่อสมมุติว่าเราเป็นมวย เราต้องอาศัยจังหวะที่เค้าต่อยเรา ที่เค้าชกเรามาเป็นจังหวะของเรา เพราะคือระยะเดียวกัน เค้าต่อยเราถ้าเราปัดหรือปิดได้ เราก็ต้องต่อยเค้าโดน

    สมัยก่อนการฝึกเตะเค้าไม่มีกระสอบทราย ก็ต้องเอาต้นกล้วย ต้นตานีตัดความยาวระดับศีรษะของเรา แล้วก็เตะ เตะริด ไม่เตะคว่ำแข้งนะครับ เตะริด ทางอีสานเค้าจะฝึกกัน คือเตะงัดขึ้นไปเค้าจะเลี้ยงไม่ให้ต้นกล้วยล้ม เตะไปทางหนึ่งเอาอีกข้างเตะดัก พอต้นกล้วยเทก็เตะเกี่ยวเข้ามาชิด แล้วก็เตะยัดออกไป เค้าเตะเลี้ยงไปเลี้ยงมาได้ อย่างนายทัพ จำเกาะ เตะต้นกล้วยไม่ล้มเลย นี่นะครับสมัยก่อนเค้าฝึกกันขนาดนี้



    การปัด การป้อง การปิด การเปิด คือประตูของการใช้ลูกไม้นะครับ อย่างเช่น ดับชวาลา ถ้าเค้าต่อยมาเราไม่เปิดก่อน เราก็ใช้ไม่ได้ หรือเราไม่ปิด แล้วต่อยเข้าไปเราปัดไม่เป็น ต่างคนต่างโดน ก็ไม่ใช่ลูกไม้ เราก็ต้อง ปัด ปิด หรือเปิดถึงจะเข้าไปใช้ลูกไม้ได้นะครับ



    มวยไชยาเปรียบเสมือนทุเรียน สมมุติถ้าใครเตะทุเรียนได้ ก็เตะมวยไชยาได้ ทุเรียนจะสุกหรือว่าจะแก่แล้ว ยังไงก็ตามเราเตะไม่ได้อยู่ดี เพราะเปลือกทุเรียนมีหนามมวยไชยาก็เหมือนกัน ท่าครูของมวยไชยา เวลาเตะมายก พลิกรับ ย่อลงไปกด ยกเข่าขึ้นมารับ หนามทั้งนั้นคนเตะหนามทุเรียนก็เจ็บขา คนเตะมวยไชยาก็เจ็บขา ต่อยมาก็เจ็บ เตะมาก็เจ็บ เค้าก็เลยเปรียบมวยไชยาว่าเหมือนทุเรียน


    ครับ มวยไทยต้องฝึกชิงคมให้ดีนะครับ ชิงคมก็คือชิงทำก่อนนั่นเอง สมัยนี้ พอเค้าจะต่อยขวาเค้าก็ขยับ เค้าจะเตะเค้าก็ขยับ แต่ถ้าเป็นมวยสมัยก่อน เค้าจะไม่ขยับนะครับ เค้าจะชิงคม สมมุติว่าเห็นคนขยับเค้าเตะเลย ด้วยขาหน้า ชิงคมก็ชิงด้วยหมัดหน้า แต่ชิงคมเพื่ออะไร ชิงคมก็เพื่อพันลำนั่นเอง อย่างสมมุติว่าเค้าขยับจะชก เราเตะปั๊บ เราก็ต่อในขณะที่เค้าเสียศูนย์ หรือว่าเค้าขยับจะชก เราทิ่มด้วยหมัดหน้า พอทิ่มปั๊ป เค้ากระดกกลับมา เค้าก็ต้องเจอพันลำ พันลำก็คือการออกอวัยวุธต่อเนื่อง เช่น ทิ่ม กระแทก เหวี่ยงสั้น ยัดเข่า เหวี่ยงแข้งหลัง นี่ก็คือพันลำนะครับ

    สมัยก่อนเวลาฝึกกันนั้นเป็นขั้นเป็นตอนนะครับ ไม่ได้รีบร้อนฉาบฉวยเหมือนปัจจุบันนี้ สมัยก่อนเวลาผมไปเรียนกับท่านปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย ท่านให้ผมเดินเส้นขนานอย่างเดียว ๓ เดือนกว่าๆ ผมก็ไม่คิดอะไรหรอกครับ เพื่อนฝูงเรียนด้วยกันเล่นด้วยกันก็หนีไปเรียนเทควันโด้ หนีไปเรียนคาราเต้ หนีไปเพราะอันนั้นมันสนุก มันมีชุด มันเท่ห์ มีสาย แต่ผมก็ไม่รู้สึกว่ามวยมันไม่มีอะไรตรงไหน ผมก็เรียน ๓ เดือนกว่าๆ ท่านก็นั่งตบแมลงวันไปหัวเราะไป หลังจากนั้นท่านเห็นว่าเราแน่น ก็ยกมือขึ้นมาจดมวยเลย เร็วละทีนี้ อย่างอื่นเร็วเลย นั่นเพราะว่าพื้นฐานเราดีแล้วนั่นเองนะครับ

    สมัยก่อนเนี่ยท่านปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย ท่านเล่าว่าท่านปรมาจารย์กิมเส็ง ทวีสิทธิ์มีเรื่องไม่เข้าใจกับเพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมงานก็วิ่งไล่ชก ท่านปรมาจารย์กิมเส็งก็ไม่สู้ วิ่งหนี วิ่งหนีรอบโต๊ะเลย เพื่อนก็วิ่งไล่ชก ท่านปรมาจารย์เขตรก็ถามว่า แล้วทำไมครูไม่สู้เค้าละ ท่านก็บอกว่าทำเค้าได้ยังไง เค้าไม่เป็นมวย ท่านพูดดีนะครับ ทำเค้าได้ยังไงเค้าไม่เป็น ก็แสดงว่า วิชามวย พออยู่กับผู้ไดแล้วจิตใจจะสงบ ระงับ เป็นคนดี มีความรู้สึกเมตตาสงสารผู้อื่น ถ้าท่านปรมาจารย์กิมเส็งขยับเพียงนิดเดียว เพื่อนท่านเรียบร้อยแน่นอนครับ

    วิชามวยไทยแท้ เรียนไม่มีวันจบ ท่านปรมาจารย์ท่านบอกว่า ใครบอกว่าจบน่ะมันโม้ เพราะมวยไทยเป็นศาสตร์เหมือนตัวเลข ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ คุณนับไปเถอะนับไปเรื่อยๆ นับไปจนตายก็ยังมีเลขต่อ แต่หลักๆจะมี ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ ๐ เอามาต่อกัน วนไปวนมาได้อยู่อย่างนั้น มวยไทยจะเหมือนกับอะไรที่ไม่มีวันจบ ดูเป็นศาสตร์ที่ต่อได้ตลอดเวลานะครับ แต่ขอให้มี ลำต้น หรือแก่นของมัน ที่ถูกต้องนั่นเอง


    ท่านปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย สมัยท่านหนุ่มๆ หรือสมัยท่านเด็กๆ ผมก็ไม่ทราบนะครับ ท่านก็เล่าให้ฟังว่าท่านชกเวทีมา ๒ ครั้ง ชนะง่ายๆ คือชนะลูกเฆี่ยนแขนของไชยา ชนะง่ายๆ ทั้ง ๒ หน ท่านชกแค่ ๒ ครั้ง เพราะเป็นลูกเจ้าเมือง เจ้าเมืองไชยา คือ ท่านพระยาวจีสัตยารักษ์ ขำ ศรียาภัย นะครับ แต่ว่าประสบการณ์ของท่าน ท่านชกตามค่ายมาตลอด และเฆี่ยนแขนนักมวยห้อยทุกคนเลยนะครับ นี่คือประวัติของท่านปรมาจารย์

    ท่านปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย ท่านสอนผมอย่างดีเลยว่า อย่าใช้แขนกับขา ให้ใช้ขากับขา แขนกับแขน เนื่องจากแขนเป็นกระดูกเล็ก ขาเป็นกระดูกใหญ่ ถ้าเราเอาแขนไปรับขา ท่านปรมาจารย์บอกว่า รับอย่าให้เกิน 3 ที ท่านปรมาจารย์ท่านสอนแบบนี้นะครับ

    สมัยก่อนเมื่อผมยังเรียนกับท่านปรมาจารย์เขตร ศรียาภัยได้ประมาณปีกว่าๆ ตอนกลางคืนผมก็ไปหาท่านปรมาจารย์ ไปกับพี่ชายและเพื่อนพี่ชาย ก็เป็นบุญตามากที่ได้เห็นท่านปรมาจารย์ย่างสามขุม ท่านเมตตาย่างให้เราดูเต็มรูปแบบ เวลาท่านย่างสามขุม ศีรษะท่านจะส่าย คือพวกเราไม่มีใครทำได้นะครับ แม้กระทั่งคุณครูทองหล่อ ยาและ ซึ่งเป็นศิษย์รัก ท่านก็บอกว่า ครูยังทำไม่ได้เลย ท่านปรมาจารย์จะส่ายหัวไปด้วย เหยาะไป ย่อ ยืด มือท่านจะไม่พันเร็วๆแบบเป็นลิงนะครับ ถ้าพันเร็วๆนี่มันเป็นลิง ท่านจะพันสบายๆ แต่ศีรษะท่านจะส่ายดิ๊กๆๆๆ ตาท่านจะมองนู่นมองนี่ไม่อยู่กับที่ แล้วขาท่านจะย่อๆ ยืดๆ ย่อๆ ยืดๆ จำได้ว่าท่านใส่โสร่ง ท่านย่างจนโสร่งหลุด ท่านยังย่างต่อ โอ้โฮ ท่านย่างได้อย่างสวยงามมาก เป็นบุญตาของพวกเราจริงๆนะครับในวันนั้น

    การฝึกมวยไทย เป็นเรื่องที่ต้องใช้การพิจารณา ใช้สติ ใช้ความคิดว่าเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ อย่าง บางท่าเป็นไปได้ บางท่าก็เป็นไปไม่ได้ ยิ่งสมัยนี้เกิดอะไรต่างๆมากมายนะครับ เอาวิชาอื่นมา เหมือนกับเราไปตามก้นเค้า การหักของมวยไทยหักอย่างไร ไม่ใช่จะไปคว้าหัก คนมันเกร็งได้นี่ครับ อย่างใครมาคว้าแขนผมถ้าผมเกร็งก็หักไม่ได้ หักแบบมวยไทยต้องอาศัยยืมแรงเค้าหัก เค้าต่อยมา หักในขณะนั้น เราต้องใช้สติใช้ความคิด

    สมัยก่อนการฝึกกำลังเค้าก็ไม่ต้องอาศัยฟิตเนสอะไรนะครับ เค้าก็มีอุปกรณ์ง่ายๆ เช่นฝึกกำลังแขน ก็วิดพื้นนะครับ หรือมีเชือกเส้นหนึ่ง เค้าก็โหนขึ้นไป จะได้กำลังส่วนหัวไหล่ และปีกทั้งสองข้าง ทำให้มีแรงดึง แรงผลักนะครับ สมัยก่อนเค้าจะฝึกกันอย่างนี้


    ลูกไม้มวยไทยมีเยอะเลยนะครับ มีมากมายจริงๆ บางคนบอกว่ามีถึง ๔๐๐ กว่าลูกไม้เราก็ต้องเลือกนะครับ เราเป็นเด็ก เราเรียนวัน สองวัน เราก็ต้องใช้ลูกไม้แบบเริ่มๆที่เราเรียน แต่ถ้าเผื่อเราแก่ อายุมาก เราก็ควรมีกาลเทศะในการใช้ อย่าไปเอาลูกไม้นารายณ์ข้ามสมุทร หรือว่าลูกยากๆ เช่นจระเข้ฟาดหาง ซึ่งไม่ควรใช้เป็นอย่างยิ่ง หนึ่งเวียนศีรษะ สองไม่มีแรงโดด ให้เราใช้ในสิ่งที่เราทำได้ในตอนนั้นนะครับ

    นักมวยสมัยก่อนเค้าจะระวังหน้าตาเค้าเป็นอย่างยิ่งเลย ตั้งแต่การเริ่มจากการฝึก เวลาชก ก็จะใส่ประเจียดไว้ ไม่ถอดประเจียดออก เค้าจะชกกันอย่างนั้นแหละ เหมือนเค้าระวังรักษาครูบาอาจารย์ของเค้า ก็คือระวังรักษาประเจียดไม่ให้หลุด ทำให้หน้าตาเค้าสะอาดสะอ้าน ไม่มีแผล นี่ก็คือวิธีการสอนแบบสมัยโบราณ ทำให้นักมวยมีความระมัดระวังมากขึ้น ไม่เผลอเรอ หรือทำให้หน้าตาเค้าเป็นแผลหรือบาดเจ็บนั่นเองนะครับ....


    การฝึกมวยไม่ใช่เรื่องง่าย แล้วก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องไม่สุกเอาเผากินนะครับ เราอย่าฝึกแบบลูบหน้าปะจมูก แบบฝึกหัดทุกแบบฝึกหัดมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง ให้เราระมัดระวังไม่ให้ผิดตำแหน่ง ให้ถูกจุดต่างๆ ที่ครูบาอาจารย์สอน เมื่อเราระมัดระวังเป็นอย่างดีแล้วผลของมันก็คือความ ระมัดระวังตัวนั้นจะมาระวังตัวเราเองในโอกาสต่อไปเราฝึกเถอะ ฝึกอย่างตั้งใจ จาก ๑ เป็น ๒ เป็น ๓ เป็น ๔ ไปเรื่อยๆ แล้วมันจะมีผลต่อเรานะครับ

    วันนี้จะขอเล่าเรื่องคุณครูอิน ศักดิ์เดช เป็นครูบาอาจารย์ท่านหนึ่ง ของท่านปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย ชกกับนายสุวรรณ นิวาสวัต นะครับ นายสุวรรณ เป็นมวยหมัดหนัก ต่อยใครต่อใครร่วงมานักต่อนักแล้วนะครับ พอเจอกันกับนายอิน ศักดิ์เดช ครูอิน ศักดิ์เดช ก็รับแบบมวยไชยานั่นเอง รับเอาศอกกดเข้าที่แขน สับไปที่ท่อนแขน นายสุวรรณ นิวาสวัต ก็เริ่มช้าลง พอถึงยกที่สาม ครูอิน ตีละทีนี้ ครูอินบอกครูจะตีละทีนี้ ต่อยเหวี่ยงคงเหวี่ยงควาย เข้าไปที่หน้านายสุวรรณ นิวาสวัต จนเรียกว่าน่าจะหลับไปแล้วนะครับ แต่ว่านายสุวรรณ ทน พอพักยกก็มีคนหวังดีคนหนึ่ง เอาอะไรก็ไม่รู้เข้ามาให้ครูอินท่านดม ท่านบอกว่าเหมือนผีเสื้อเนี่ย บินเข้ามาในปาก ปื๊ต แล้วหมดสติไปเลย ครูอินก็พ่ายแพ้ไปในครั้งนั้น ซึ่งน่าจะชนะนะครับ แต่พ่ายแพ้เพราะว่ากลโกงนั่นเองนะครับ

    ครูบาอาจารย์นั้นเป็นสำคัญเป็นอย่างยิ่งนะครับ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ ก็เหมือนกับว่าเราทำอะไรโดยสัญชาตญาณเท่านั้นเอง ครูบาอาจารย์จะถ่ายทอดในสิ่งที่ได้รับสืบต่อกันมา เราจะต้องมีความนับถือครูบาอาจารย์ของเรานะครับ เมื่อเราทำได้อย่างนี้ ลูกศิษย์ทุกคนจะมีความเคารพเรา และมีความยกย่องเชิดชูครูบาอาจารย์สืบต่อกันไป เหมือนกับที่ครูบาอาจารย์ ได้ยกย่องครูบาอาจารย์ต่อๆกันมานะครับ

    สมัยนี้การชกมวยยกที่หนึ่ง ใครไม่ชกกรรมการไล่ลงแล้วนะครับ แต่สมัยก่อนเนี่ย ท่านปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย ซึ่งเป็นปฐมบรมครูของผมท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านไปดูนายอินทร์ ศักดิ์เดช ชกกับนักมวยพม่านะครับ ไม่มีทำอะไรกันเลย เหยาะ ย่างดูกัน ดูเชิงกันน่าดูเลย แต่พอนักมวยพม่าพลาดเท่านั้นแหละ ครูอินทร์เข้าไปนี่นะ เหมือนกับ พูดง่ายๆเหมือนกับว่าสุนัขฟัดกับแมว โอ้โฮ ฝุ่นตลบเลย พอครูอินทร์ถอยออกมานักมวยพม่าฟุบเลย เลือดเต็มไปหมด นี่คือการชกมวย มันต้องมีแผนการมันต้องมีดำเนินการ ไม่ใช่ยกหนึ่งต้องชกกัน ไม่ชกไล่ลงนะครับ ผมขอพูดไว้เป็นบรรทัดฐานเท่านั้นเองนะครับ

    มวยของเราสมบูรณ์อยู่แล้วนะครับ มวยไทยทุกสาย ไม่ว่าจะเป็นไชยา โคราช ลพบุรี แต่ตอนนี้มันเหลือไชยาอย่างเดียวที่สมบูรณ์ ครบหัวครบหางนะครับ การฝึกตามครูบาอาจารย์นั้น ถือว่าประเสริฐที่สุด เพราะว่ามวยไทยเราใช้ปกป้องผืนแผ่นดินมา ใช้กับของจริง เราไม่ได้ใช้ของปลอมที่ไหน แต่สมัยนี้ ไม่ได้มีการสู้รบกันแล้ว ไม่มีใครที่จะคิดอะไรได้สมบูรณ์ไปกว่านั้นแล้วครับ

    สมัยเมื่อผมเรียนอยู่อัสสัมชัญนะครับ เคสเซียส เคลย์ (มูฮัมหมัด อาลี) ต่อยกับ จอร์จ โฟร์แมน เคสเซียส เคลย์ ปิด ปิด ไม่ค่อยออกหมัดเลย คนดูก็นึกว่าตายละ เคลย์ตายแน่ๆ พอเคลย์ได้เปรียบ เห็นจังหวะปั๊ป ต่อย ปังๆๆๆ จอร์จ โฟร์แมนร่วงเลย ยกที่แปด ร่วงเลยนะฮะ

    ท่านปรมาจารย์เขตร ท่านก็วิจารณ์ให้ผมฟังบอกว่า เคลย์ใช้เชือกเวที เอนตัวแล้วเอาศอกปิด พอจอร์จ โฟร์แมนล้วงท้องมา ก็เอาศอกรับ แล้วพอต่อยหน้ามาก็เอนหนี เชือกเวทีก็เป็นตัวค้ำต่อยก็ไม่ถึง มันไม่ได้เอนอย่างเดียว มันคอยดูพอเอนหลบไปตามันก็คอยดู พอเคลย์เห็นจังหวะมันก็ต่อย พอต่อยโดนโฟกัสปั๊ป จอร์จ โฟร์แมนตาลอยเลย ทีเดียวร่วงเลย นี่คือจุดจบของแชมป์โลกผู้ยิ่งใหญ่ จอร์จ โฟร์แมน

    การฝึกมวยต้องฝึกเหมือนเราเป็นเด็กนะครับ เวลาเด็กหัดพูดก็เริ่มจากฟัง ทั้งฟังคุณพ่อ คุณแม่ ทั้งดูคุณพ่อ คุณแม่ แล้วก็พูดชัดบ้างไม่ชัดบ้างพูดไปนะครับ พอวัยเค้าโตขึ้นเค้าก็พูดได้เยอะขึ้น นั่นเหมือนกัน การฝึกมวยเหมือนกัน ฝึกตั้งแต่ต้น ปั้นหมัด พันแขน พันหมัด เอากำลังจากส่วนนั้นค่อยๆพัฒนาขึ้นไป ค่อยๆรู้ขึ้นไป การป้องกันตัวตั้งแต่ง่ายๆกว่าจะไปใช้ลูกไม้ ฝึกจนกระทั่งเป็นชวณะ


    การฝึกมวยสมัยก่อนเนี่ยก็จะมีหลายแบบหลายอย่างเหลือเกิน บางคนก็วิ่งไปบนผืนน้ำนะครับ เพื่อให้เกิดกำลังขาโดยการกระแทก กระแทกขาทิ้งแรงๆ กระแทกฝ่าเท้าแรงๆ น้ำที่เราวิ่งก็จะกระจายออก ก็จะเห็นกรวด เห็นทรายใต้น้ำ หรือบางทีเราก็จับขากัน แล้วก็ดันไป คนหนึ่งก็พยายามยืน พยายามเขย่งยืน เพื่อให้เกิดการทรงตัวที่ดีนั่นเองนะครับ
Back to content