ครูเล็กสอนมวย บทที่สามสิบเก้า - ค่ายมวยไชยา บ้านช่างไทย

TH / EN
Go to content
วิธีการใช้เข่า
         เข่าเป็นอวัยวุธที่สำคัญมาก เพราะมีส่วนทำให้เราสามารถทรงตัวหรือเคลื่อนไหว อีกทั้งเข่ายังมีความแข็งและสามารถใช้เป็นอวัยวุธ ทั้งในการปิดป้องและในการยัด แทง กด กระตุก เป็นต้น เราจึงจำเป็นต้องรู้จักเข่า และใช้เข่าให้ถูกหน้าที่ของมัน

         เข่าในความหมายของมวยไทย เกิดจากการงอขา ตรงมุมด้านนอกที่งอขานั่นแหละ เรียกว่า “เข่า” สามารถใช้พลิกรับ อวัยวุธแข้ง แม้กระทั่งถีบ ก็ยังสามารถรับหรือยัดเข่าได้ แต่จะไม่สามารถยกขึ้นไปรับอวัยวุธ หมัด หรืออวัยวุธศอก ที่อยู่ด้านบน และจะไม่เอาหัวเข่า (ลูกสะบ้า) เข้ารับการเตะ เป็นอันขาด เพราะลูกสะบ้านั้นเป็นจุดที่แม้งอขาแล้วจะตรึง ไม่เคลื่อนที่ด้วยการงอ แต่ก็มีความรู้สึกเจ็บเมื่อโดนกระทบ แต่จะใช้ในการยัดเข่า แทงเข่า ไปยังจุดอ่อนคือลิ้นปี่ ยอดอก ชายโครงอ่อน หรือใบหน้า
มวยไทยจึงให้ความสำคัญกับการงอเข่า หรือการย่อลง เพราะจะเป็นการระวังลูกสะบ้าไปในตัว และยังทำให้เคลื่อนไหว เป็นไปได้โดยอย่างอิสระ ซึ่งเมื่อเรายืนย่อนั้นเราก็สามารถใช้เข่า พลิกรับอวัยวุธเตะของคู่ต่อสู้ หากคู่ต่อสู้เตะสูง เราก็สามารถยกขึ้นรับตามระดับที่คู่ต่อสู้เตะ ได้อย่างง่ายดาย และไม่ว่าท่านจะยกรับในลักษณะใดก็ตาม ก็เรียกว่า “ท่านใช้เข่าแล้ว”

         ยังมีการใช้เข่าที่นอกเหนือไปจากการยกรับ นั่นก็คือ การยัดเข่า การตีเข่า กดเข่า ซึ่งต้องอาศัย ระยะ จังหวะ โอกาส ที่เป็นไปได้ เช่น คู่ต่อสู้เข้ามาจับคอเรา เรายัดเข่าสวนอย่างรวดเร็ว หรือคู่ต่อสู้ตีเข่ามาหาเรา แล้วเราใช้เข่าข้างเดียวกับคู่ต่อสู้ ยกตัวอย่าง คู่ต่อสู้ใช้เข่าขวายัดหรือแทงเข้ามาหาเรา เราก็ใช้เข้าขวายัดหรือแทงทแยงเข้าไปที่ ขาอ่อนของเข่าข้างที่คู่ต่อสู้แทงหรือยัดเข่ามาหาเรา อันนี้ก็แล้วแต่ภูมิความรู้ในเรื่องการป้องกันของเรา

         ดังนั้นท่านจึงควรฝึกเข่าให้ได้ในหลายรูปแบบ เช่น เข่าโทน เข่ายัด เข่าลา เข่าน้อย เข่ากระต่าย เข่ากด เข่าลอย เข่าสลับ และเข่ากระตุก เป็นต้น ซึ่งเข่าที่อันตรายและหนักหน่วงได้แก่ เข่าโทน

         นักมวยหรือผู้ที่ฝึกฝนมาอย่างดี จะไม่ค่อยเอาแขนไปรวบคอหรือจับคอคู่ต่อสู้ เพื่อการเหวี่ยงโยก เพื่อจะได้เข่าได้อย่างหนักหน่วง เพราะการเอื้อมมือหรือนำแขนของเรา เปิดอ้าออกไปเพื่อการจับคอนั้น อันตรายมาก หน้าของเราจะเปิด แม้ว่าเราจะไขว้มือแล้วยื่นเข้าไปเพื่อการโน้มคอ ก็ยังนับว่าอันตราย เพราะหากคู่ต่อสู้นั้นคล่อง อาจยื่นมือมาปัดแขนทั้งสองของเรา ทำให้เราเซตามแรงปัดได้ แต่ถ้าเรายื่นแขนหรือมือไปแบบปกติ ก็นับว่ายิ่งอันตรายมาก ถึงแม้ว่าเราจะพยายามเอาแขนแนบชิดกันก็ตาม เพราะคู่ต่อสู้นั้นมีทั้งหมัด ทั้งศอก ที่อยู่ข้างหน้า หากคู่ต่อสู้รู้และชำนาญในการใช้หมัด และศอก จะอันตรายอย่างยิ่งทีเดียว

         ซึ่งการแก้การจับคอตีเข่านั้นมีหลายวิธี ซึ่งนักมวยที่ได้เรียนการแก้ ก็จะไม่ค่อยโดนการจับคอตีเข่า เว้นเสียแต่ว่า นักมวยผู้นั้นไม่ได้ร่ำเรียนวิชามวยอย่างถูกต้องนั้นเอง ซึ่งหากจะกล่าว หากจะสอนในที่นี้ ก็คงจะดูยืดยาว ดังนั้น การใช้เข่าจึงเหมือนกับการใช้อวัยวุธอื่นๆ ต่างกันตรงที่ว่ามีขนาดความยาว ความหนักหน่วง และความรวดเร็วต่างกัน ยกตัวอย่าง หมัด ก็จะเร็วประมาณหนึ่ง ศอกก็จะเร็วประมาณหนึ่ง ดังนั้น เราควรจะประมาณความเร็วในอวัยวุธแต่ละอย่างในตัวของเรา แต่ข้อดีของเข่านั้น คือเป็นอวัยวุธที่สามารถรับอวัยวุธ เตะ เข่า ถีบหรือฉัดได้ แต่การรับถีบหรือการฉัด จะต้องรับในลักษณะปัดด้วยเข่า อธิบายก็คงจะยืดยาว จึงขอบอกไว้แต่เพียงเท่านี้

         เราจึงควรฝึกเข่าทั้งเข่าโทน เข่าลา เข่าน้อย เข่ากระต่าย เข่าลอย เข่าสลับ รวมไปถึงเข่ากระตุก และแบ่งชนิดของเข่า เพื่อใช้กับระยะต่างๆ ซึ่งในบางครั้งเข่าก็ไม่จำเป็นต้องยก เพียงแต่ยืนย่ออยู่ในตำแหน่งของมัน เพียงแต่การใช้เข่าพลิกรับ หรือยกรับ ซึ่งเหมือนกับการใช้ศอก จึงได้อุปมาไว้ว่า “เข่า ศอก นั้นเป็นองครักษ์ และเป็นอวัยวุธ” ที่สำคัญคือต้องรู้จักการยืนย่อลง และการงอแขนดังที่กล่าวไว้แต่ต้น
การยืดแขนจนสุด หรือการยืนยืดเข่าจนสุดนั้น จะเป็นอันตรายต่อการหักเมื่อถูกกระทบ ผู้ที่ไม่รู้จริงและไม่ได้ร่ำเรียนวิชามวยไทยมาอย่างถูกต้อง ก็มักจะกล่าวดูถูกมวยไทยเดิมๆที่ครูบาอาจารย์ ในแต่ละท่านได้อบรมบ่มเพาะลูกศิษย์ลูกหาของท่าน ว่า “ใช้ไม่ได้บ้างละ มวยสมัยก่อนเจอมวยปัจจุบันตีตาย” อะไรทำนองนี้

         ขอให้ทุกท่านตั้งใจฝึกฝนวิชามวยเดิมๆ ที่สอนกันมาตั้งแต่ยังไม่มีแผ่นดินอยู่ จนมีแผ่นดินให้เราได้เหยียบยืน ก็เพราะวิชามวยและวิชาดาบของจริง ที่ไม่ใช่วิชาที่ใช้เพื่อการแสดงอยู่ทุกวันนี้
ครูเล็กสอนมวยตอนอื่นๆ
Back to content