เหวี่ยงศอก หรือศอกเหวี่ยงหรือศอกฟันอะไรก็สุดแท้แต่ ล้วนต้องเกิดจากการเหวี่ยงทั้งสิ้น บางท่านบางคนหมายถึงการทบท่อนแขน แล้วเหวี่ยงท่อนแขนส่วนที่ทบกัน โดยให้ บริเวณกระดูกข้อต่อ ที่อยู่ด้านนอกที่เป็นมุมแหลมเข้ากระทบเป้าหมาย ซึ่งคนไทยเราจะเรียกกระดูกใต้หนังที่ไม่มีกล้ามเนื้อนั้นว่า ศอก แต่ศอกเหวี่ยงแบบไชยานั้นจะเหวี่ยงเป็นเหลี่ยม โดยที่หัวไหล่ของผู้ที่เหวี่ยงศอกนั้นต้องพลิกตาม ยกตัวอย่าง ท่านเหวี่ยงศอกขวา ก็ให้ท่านพลิกหัวไหล่ข้างขวาไปพร้อมๆกัน การเหวี่ยงศอกแบบไชยามีความรวดเร็วและหนักหน่วง เนื่องจากท่านใช้เหลี่ยมช่วยผลักศอกของท่าน และท่านยังปิดช่องโหว่ที่เกิดจากการเหวี่ยงศอกด้วยการ พลิกไหล่เปิดสันแขนไปโดยปริยาย
การฝึกการเหวี่ยงศอก
..........ให้ท่านยืนจรดมวยแบบไชยาในเหลี่ยมใดเหลี่ยมหนึ่ง ในที่นี้ให้เป็นเหลี่ยมซ้าย ให้ท่านก้าวขาข้างขวาพร้อมกับยกศอกข้างขวาสูง แล้วชกหมัดขวาลงไปที่รักแร้ซ้าย แขนข้างซ้ายให้คงสภาพท่าครู แต่ให้พลิกไปตามเหลี่ยม ศอกข้างที่ท่านเหวี่ยงให้ตรงกับจมูกของท่านเอง ตามองไปที่ปลายศอก ท่านควร ชกหมัดข้างที่ท่านเหวี่ยงศอกที่รักแร้ของท่าน เพื่อเป็นจุดตรึง และยังเป็นการป้องกันการถูกหักแขนจากคู่ต่อสู้ของท่าน ได้ระดับหนึ่ง และเมื่อท่านต้องการเหวี่ยงศอกซ้ายท่านก็เพียงกดหมัดซ้ายลงชกที่รักแร้ขวา มือขวาเปิดขึ้นด้านในและให้ อยู่ในแนวท่าครู ที่สำคัญแขนทั้งสองข้างของท่านเวลาท่านเหวี่ยงศอก ควรขนานซึ่งกันและกันโดยประมาณ ท่านอาจฝึกโดยการ ก้าวขาขวาแล้วเหวี่ยงศอกขวา ก้าวขาซ้ายแล้วเหวี่ยงศอกซ้าย โดยไม่ต้องนำแขนที่ท่านเหวี่ยงมาจรดมวยใหม่ เพื่อความรวดเร็วในเวลาใช้งานจริง หรือท่านอาจฝึกด้วยการ ก้าวเหวี่ยงศอกขวาแล้วเหวี่ยงศอกซ้าย ต่อเนื่องกันไปก็แล้วแต่ความต้องการของท่าน ที่สำคัญควรให้ถูกต้องในรูปแบบปฏิบัติดังได้กล่าวมาแล้ว
..........การเหวี่ยงศอกนั้นรุนแรงยิ่งนัก ให้ท่านฝึกโดยการนำเอา การทิ่ม ก้าวกระแทก ก้าวเหวี่ยงสั้น ก้าวทัดมาลา ก้าวจูบศอก ก้าวเหวี่ยงศอก ยัดเข่าหลัง เหวี่ยงแข้งหลัง หรือท่านอาจจะ ก้าวกระแทก ก้าวเหวี่ยงยาว เหวี่ยงแข้งหลัง ก้าวจูบศอก ก้าวทัดมาลา ก้าวเหวี่ยงศอก ยัดเข่าหลัง อะไรอย่างนี้เป็นต้น และให้ท่านฝึกการผสมอวัยวุธไปในขณะเดียวกัน ให้ท่านใช้ความคิดไตร่ตรองในเรื่องของระยะ ในเรื่องของความสั้นความยาว แล้วให้ท่านฝึกประดิษฐ์คิดค้นการออกอวัยวุธของท่านเอง ทั้งนี้ท่านต้องไม่ลืมแนวป้องกัน ที่ท่านมีไว้เป็นมาตรฐาน และให้ท่านผูกอวัยวุธของท่าน ให้มีความระมัดระวังซึ่งกันและกัน และสามารถช่วยกันได้ทันท่วงที เหมือนการเล่นหมากรุก ท่านเดินตัวนึงท่านต้องมีอีกตัวหนึ่ง คอยผูกเอาไว้นั่นเอง คราวต่อไปจะกล่าวถึงการนำเอาอวัยวุธที่ท่านฝึกได้ มาป้องกันแล้วติดตามซ้ำเติม ซึ่งโบราณาจารย์ท่านสมัญญานามการกระทำนั้นว่า พันลำ คอยติดตามกันนะครับ