คำถามยอดฮิต - ค่ายมวยไชยา บ้านช่างไทย

TH / EN
Go to content

มวยไชยาต่างจากมวยไทยปัจจุบันอย่างไร 

         มวยไชยาเป็นมวยไทยแท้ๆ ในหลายๆสายที่สมบูรณ์ ทั้งการป้องกันตัวและตอบโต้ในขณะเดียวกัน การขึ้นชกในสมัยก่อนไม่ได้มีกฏกติกาใดๆมากำหนดมากนัก นักมวยสมัยก่อนจึงต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันตัวมากเพื่อหลีกเลี่ยงความพิการหรือเสียชีวิต กรรมการไม่ได้เป็นผู้ตัดสินหรือชี้ขาด แพ้หรือชนะอยู่ที่การยอมรับจากนักมวยว่าสู้ได้หรือไม่ หรือเล็งเห็นแล้วว่า นักมวยสิ้นสภาพจนไม่สามารถสู้ได้อีกต่อไป

          แต่เนื่องด้วยปัจจุบันนี้ได้มีกติกาต่างๆเพิ่มเข้ามา รวมถึงการให้คะแนนตัดสินและความต้องการรูปแบบการชกต่างๆจากผู้ชม จึงทำให้มวยไทยในปัจจุบันนี้ได้ตัดรอนการฝึกฝนการป้องกันตัว และวิธีการออกอวัยวุธอย่างรัดกุมออกไป จึงนับว่าแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
         


สรุปแล้วมวยไชยาเป็นมวยรับหรือ

          เป็นมวยที่ครบเครื่องครับ มีทั้งการรุก และการรับ แต่หากพิจารณาให้ดี หากไม่ให้ความสำคัญกับการป้องกันตัวแล้ว ต่อให้มีอาวุธที่เร็วและหนักแค่ไหนก็ไม่สามารถเอาตัวรอดได้หากป้องกันตัวไม่ได้  ซึ่งถ้าฝึกฝนมวยไชยาอย่างถูกต้องแล้ว การป้องกันตัวที่สมบูรณ์ก็คือการรับและการรุกในขณะเดียวกัน

         ดังนั้นเมื่อมวยไชยาให้ความสำคัญกับการป้องกันตัวมาก หลายๆคนจึงตีความผิดไป ว่าเป็นมวยรับ แต่จริงๆแล้วครบและสมบูรณ์ทุกอย่างครับ


เรียนแล้วสามารถเอาไปชกบนเวทีได้มั๊ย

          ขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้เรียนครับ หากเรียนเพื่อสุขภาพก็ได้ทั้งสุขภาพและการป้องกันตัวติดตัวไป แต่ถ้าจะชกบนเวที มวยไชยาก็จะมีหลักสูตรสำหรับชกบนเวที

          เพียงแค่นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับกติกาเท่านั้นครับ

ต้องเรียนนานแค่ไหนถึงจะเป็น

 

          ขึ้นอยู่กับผุ้เรียน ว่ามีความตั้งใจใฝ่รู้ และมีความขยันหมั่นฝึกฝนตามแบบฝึกหัดที่ครูบาอาจารย์ได้วางไว้ให้  ถ้าใครมีความขยัน มีความมุ่งมั่น ประกอบกับต้องมีสติปัญญาที่สมบูรณ์ ซึ่งไม่เท่ากันในแต่ละบุคคล ถ้าเรียนเอาแค่ป้องกันตัวอย่างเดียว  โดยมีคุณสมบัติดังที่กล่าวมา ก็ประมาณ 12 ครั้ง (ครั้งละ  2 ชั่วโมง)  ซึ่งถ้าจะเรียนให้สูงขึ้นไปอีก ก็ต้องมีเวลาให้กับวิชานี้ด้วยการตั้งใจร่ำเรียนไปเรื่อยๆ

         
ไม่มีผู้ใดสามารถตอบได้ว่า จะประสบความสำเเร็จเมื่อใด เหมือนการกินข้าว เราอิ่ม เราก็รู้เอง ซึ่งลูกศิษย์หลายคนที่นี่ได้ประสบความสำเร็จในแต่ละระดับ มีตั้งแต่ระดับต้น ระดับกลาง ระดับสูงครับ


สอนอะไรบ้าง

ทุกอย่างที่เป็นองค์ประกอบของศิลปะการต่อสู้ครับ

  1. การฝึกกล้ามเนื้อส่วนที่ใช้งานให้เกิดความแข็งแรง การสร้างแนวป้องกัน และการทรงตัว ด้วยการบริหารแบบมวยไชยา (ทำทุกครั้งที่มาเรียนครับ)
  2. ฝึกการย่างสามขุม คือเคลื่อนที่ด้วยแนวป้องกัน ทั้งส่วนบนและส่วนล่าง (ทำทุกครั้งที่มาเรียนครับ)
  3. ฝึกการออกอวัยวุธให้รัดกุมตามแบบฉบับของมวยไชยา (ทำทุกครั้งที่มาเรียนครับและเพิ่มเติมแต่ละท่าในทุกๆครั้งครับ จนสามารถออกอาวุธแบบพันลำได้อย่างรวดเร็ว กลมกลืน ไม่ติดขัด)
  4. ฝึกป้องกันตัว ด้วยการจับคู่ผลัดกันตบและผลัดกันรับ 
  5. ฝึกการออกอาวุธกับเป้าล่อ และกระสอบ
  6. ฝึกการป้องกันตัวแบบที่ครูฝึกเป็นผู้กระทำ ทั้งเตะต่อย ถีบ ฯลฯ และให้นักเรียนป้องกันให้ได้อย่างที่เรียนมา ว่าจะรับอย่างไรให้คู่ต่อสูเจ็บ
  7. ฝึกการป้องกันตัวแบบไม่มีกติกา โดยครูเล็กจะสาธิตให้ดูว่าในวันนี้จะฝึกท่าอะไร หลังจากนั้นครูฝึกเป็นผู้กระทำ โดยนักเรียนเป็นฝ่ายป้องกันตามบทเรียนที่ครูเล็กได้สาธิตไว้
  8. ฝึกการใช้ลูกไม้ โดยครูเล็กเป็นผู้สาธิต จากนั้นนักเรียนจะจับคู่กันฝึก โดยแต่ละคู่จะฝึกตามบทเรียนที่ถูกจัดไว้ให้
  9. จากข้อ4-8 จะผลัดเปลี่ยนในแต่ละสัปดาห์ เช่น สัปดาห์นี้ฝึกข้อ4 สัปดาห์ต่อไป ฝึกข้อ5 ไล่เรียงไปจนถึงข้อ8 และจะวนกลับมาที่ข้อ4 ใหม่ 


         ดังนั้นใน 12 ครั้ง ผู้เรียนจะเรียนรู้ทุกอย่าง ตั้งแต่ การบริหารร่างกาย การย่างสามขุมในแบบต่างๆ การป้องกันตัว การออกอวัยวุธ การใช้ลูกไม้ (การป้องกันและตอบโต้) โดยแต่ละอย่างจะค่อยๆเพิ่มเติมตามบทเรียนของแต่ละคน

         การฝึกที่ดีคือการฝึกซ้ำๆจนเป็นอัตโนมัติ ค่อยๆรู้ทีละนิด แต่นำไปใช้ได้จริง ดีกว่ารู้ทีละมากๆ แต่ไม่สามารถใช้ได้นะครับ



เรียนจนครบ 12 ครั้งแล้วจบเลยมั๊ย

          วิชามวยไม่มีวันจบครับ เรียนกันเป็นปีก็ไม่มีวันจบ เรียนตลอดชีวิตก็ยังไม่จบ เพราะวิชามวยไทยเป็นศาสตร์  ยิ่งเรียนมากยิ่งรู้มากขึ้น มีความคล่องตัวมากขึ้น สุขภาพดีแข็งแรงขึ้น(ตามอายุ) โดยส่วนมากจะเรียนไปเรื่อยๆ อยู่ที่ผู้เรียนเองว่าพอใจที่แค่ไหนครับ

อายุมากแล้วเรียนได้มั๊ย


          ขึ้นอยู่กับสุขภาพของท่านด้วยครับ จากที่ผ่านมามีผู้เรียนอายุน้อยที่สุด 5 ขวบ (แต่ปัจจุบันรับตั้งแต่ 8 ขวบ) ไปจนถึงอายุสูงสุด 70 ปี  ซึ่งแต่ละคนไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เพียงแต่ท่านต้องรู้ตัว เมื่อไม่ไหวให้หยุดพัก หายเหนื่อยเมื่อไหร่ค่อยทำต่อ อย่าหักโหม ร่างกายจะค่อยๆปรับตัว  ให้เรียนตามสภาพร่างกายครับ  ซึ่ง ณ ปัจจุบัน มีคนอายุระหว่าง 40-70 ปี มาเรียนเฉลี่ยแล้ว 10-15 คนต่อสัปดาห์ครับ


ผู้หญิงเรียนได้มั๊ย

          เรียนได้ทั้งผู้หญิงผู้ชายครับ ที่บ้านช่างไทยก็มีผู้หญิงเรียนเยอะ  มีทั้งเด็ก  วัยรุ่น นักศึกษา  และผู้ใหญ่  ซึ่งผู้หญิงก็เยอะพอสมควรครับ

ไม่มีพื้นฐานเลย เรียนได้มั๊ย

          เรียนได้ครับ เพราะการสอนของบ้านช่างไทยจะเน้นการสอนตั้งแต่พื้นฐานซึ่งสำคัญมาก และหากใครไม่ให้ความสำคัญกับการเรียนพื้นฐาน  ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการฝึกในขั้นสูงๆต่อไป  
         

         
ดังนั้นผู้เรียนจึงไม่ต้องกังวลครับว่า ไม่เคยเรียนอะไรเลย จะทำให้ฝึกยากกว่าคนมีพื้นฐานหรือไม่ คำตอบคือการเรียนอย่างอื่นมาแล้ว ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ฝึกมวยไชยาได้เร็วขึ้น แต่ความขยันหมั่นเพียรต่างหากครับ ที่จะทำให้ท่านประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น

เรียนการต่อสู้อย่างอื่นมาแล้วจะขัดกันมั๊ย

          ขัดกันบ้างครับ แล้วแต่ว่าท่านฝึกการต่อสู้นั้นมามากน้อยแค่ไหน ซึ่งก็ต้องอาศัยเวลาให้ท่านเคยชินกับสิ่งใหม่ๆ  แต่ถ้าท่านมีความสามารถในการแยกประสาทได้ดี นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรคครับ

คอร์สปกติมีคนเรียนมากมั๊ย


         ปัจจุบัน มีนักเรียน 60-80 คน ต่อสัปดาห์ มีการสอนทั้งหมด 5 รอบ เฉลี่ยแล้ว รอบละประมาณ 10-20 คน ซึ่งในแต่ละรอบ อาจมากหรือน้อยกว่านี้ครับ

         แล้วนักเรียนมาเรียนเยอะๆ จะสอนได้ทั่วถึงหรือไม่ คนที่มาเรียนใหม่กับเก่า จะสอนแยกกันยังไง ?

         เราจัดการสอนอย่างเป็นระบบครับ ในแต่ละรอบ การสอนจะแยกเป็นระดับ โดยจัดกลุ่มระดับของนักเรียน  ประมาณ 4-6 กลุ่ม และมีครูฝึกคอยดูแลทุกกลุ่มครับ  โดยที่ผู้จัดกลุ่มจะดูจากจำนวนครั้งที่มาเรียนของแต่ละคน แต่ที่สำคัญจะดูพัฒนาการของผู้เรียนเป็นส่วนสำคัญ แม้ว่าผู้เรียนจะเรียนมาหลายครั้ง แต่หากผู้จัดเห็นว่ายังไม่สามารถย้ายไปเรียนกับกลุ่มที่ระดับสูงกว่านี้ได้ ก็จำเป็นจะต้องให้เรียนกับกลุ่มที่เป็นระดับเดียวกันก่อน  เมื่อเห็นว่าดีแล้ว จึงจะย้ายกลุ่มได้ครับ

คอร์สปกติและคอร์สพิเศษต่างกันอย่างไร


          ทั้งสองคอร์สนี้มีหลักสูตรการสอนเหมือนกันครับ แต่ต่างกันตรงที่คอร์สพิเศษคนน้อยกว่า และหากเลือกเวลาที่ไม่ตรงกับที่คนอื่นๆเรียนอยู่ ก็เหมือนกับเรียนแบบตัวต่อตัว ครูจึงสามารถดูแลได้ใกล้ชิดขึ้นครับ

Back to content