ประวัติปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย - ค่ายมวยไชยา บ้านช่างไทย

TH / EN
Go to content
ปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย มวยไชยา


..........เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 พฤศจิกายน 2448 ณ ตำบลหนองช้างตาย ปัจจุบันเรียกว่า ตำบลท่าตะเภา อำเภอ ท่าตะเภา จังหวัดชุมพร เป็นบุตรคนที่ 5 (คนสุดท้อง) ของ พระยาวจีสัตยารักษ์(ขำ ศรียาภัย) มารดาชื่อแก้ว มีพี่น้องร่วมบิดารวม 5 คนด้วยกัน

..........
การศึกษา :การศึกษาเบื้องต้นเริ่มเรียนที่ ร.ร.ศรียาภัย ซึ่งเป็นโรงเรียนแห่งแรกในจังหวัดชุมพร โดยเป็นโรงเรียนซึ่งบรรพบุรุษสร้างอุทิศไว้ในบริเวณของวัดราชคฤห์ดาวคะนอง หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดท่าตะเภาเหนือ หลังจากนั้นเมื่ออายุได้ประมาณ 8 ปี ได้เดินทางมาอยู่กรุงเทพฯ และได้เข้าเรียนภาษาไทยที่ ร.ร.มัธยมวัดสุทธิวราราม สอบไล่ได้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ป.7 ในปัจจุบัน) เข้าเรียนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนอัสสัมชัญ สอบไล่ได้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (ม.ศ.3 ในปัจจุบัน)

..........ท่านมีความสนใจในการกีฬาเป็นอย่างยิ่ง เพราะเห็นว่าการกีฬาเป็นเครื่องส่งเสริมพลานามัย และอบรมบ่มนิสัยให้บุคคลเป็นผู้มีน้ำใจ และมารยาทอันดีงามตามวิสัยของนักกีฬา ในปีพ.ศ.2465 มีการแข่งขัน กีฑาเพื่อเป็นที่ระลึกแก่กองทหารอาสาไทยในมหาสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเดินทางกลับ
จากฝรั่งเศส ซึ่งท่านได้เข้าแข่งขันกระโดดสูงและได้รับรางวัลที่ 1 ท่านมีความสนใจมากเป็นพิเศษในกีฬาฟุตบอลและมวยไทย ได้ชื่อว่าเป็นดาราฟุตบอลของทีมอัสสัมชัญ ทั้งเมื่อเล่นในทีมโรงเรียนและทีมสโมสร เล่นฟุตบอลในทีมอัสสัมชัญอยู่เป็นเวลาประมาณ 17 ปี โดยส่วนใหญ่คำรงตำแหน่งหัวหน้าทีม ทีมฟุตบอลอัสสัมชัญในสมัยนั้นเป็นทีมที่แข็งแกร่งมีชื่อเสียงมาก ชนะการแข่งขันและได้รับรางวัลต่างๆมากมาย ในปีพ.ศ.2469 ได้ชื่อว่าเป็นทีมที่แข็งแกร่งที่สุด เคยได้รับรางวัลถ้วยไซ่ง่อนในปีพ.ศ.2487 และชนะได้รับรางวัลเครื่องบินของกองทัพอากาศในปีพ.ศ.๒๔๗๘ และในปีพ.ศ.2477 โรงเรียนอัสสัมชัญจัดงานฉลองเป็นการใหญ่ที่ได้ตั้งโรงเรียนมาครบ 50 ปีบริบูรณ์ท่านจึงได้รับรางวัลเหรียญทองคำสร้างพิเศษ มีคำจารึกเป็นภาษาละตินว่า Semper Fidelis ซึ่งแปลเป็นไทยว่า "สัตย์ ซื่อตลอดกาล" อันเป็นเหรียญเดียวที่โรงเรียนมอบให้นักเรียนตั้งแต่สร้างโรงเรียนมาตลอด เป็นเวลา 90 ปี


..........สำหรับด้านมวยไทย ท่านเริ่มฝึกหัดมาตั้งแต่อายุประมาณ 8 ปี จากครูคนแรกในชีวิตของท่านคือจาก ท่านบิดา พระยาวจีสัตยารักษ์ อดีตเจ้าเมืองไชยา(ตำแหน่งเดิมก่อนเดินทางมากรุงเทพฯเพื่อรับหน้าที่ผู้ กำกับ การถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา) และเมื่อกาลเวลาผ่านไปก็ได้พากเพียรฝึกฝนกับบรรดาบรมครูมวยไทย ซึ่งมีชื่ออีกมากมายหลายท่าน ซึ่งในประวัติของท่านกล่าวไว้เป็นลายลักษณ์ อักษรว่า มีทั้งหมด 12 ท่านดังนี้
 1. คุณพ่อ (พระยาวจีสัตยารักษ์)
 2. คุณอากลัด ศรียาภัย ผู้บังคับการเรือกลไฟรัศมี
 3. หมื่นมวยมีชื่อ (ปล่อง จำนงทอง) ซึ่งต่อยนักมวยโคราชต่อหน้าพระที่นั่งพระพุทธเจ้าหลวงฯ ในงานพระเมรุกรมขุนมรุพงศ์ ศิริพัฒน์ที่ทุ่งพระเมรุ
 4. ครูกลับ อินทรกลับ (พ่อนายกลม อินทรกลับ ซึ่งเข้ามาต่อยกับนายศิริ สุวรรณวยัคฆ์ พระเอก 11  ยกเสมอกันที่สนามสวนกุหลาบ เมื่อพ.ศ.2463)
 5. ครูสอง ครูมวยแห่งบ้านทากะตาย อำเภอท่าแซะ
 6. ครูอิทร ศักดิ์เดช บ้านท่าตะเภา อำเภอเมือง เคยมาต่อยกับนายสุวรรณ นิวาสวัต   และแพ้ครั้งแรกในชีวิตเพราะถูกวางยาดมแอมโมเนีย
 7. ครูดัด กาญจนากร ครูมวยบ้านหนองทองคำ
 8. ครูสุก เนตรประไฟ ครูมวยบ้านแสงแดด
 9. ครูวัน ผลพฤษา ครูมวยตำบลศาลเจ้าตาแป๊ะไป
 10. อาจารย์หม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิวงศ์ สวัสดิกุล
 11. ครูกิมเล็ง ทวิสิทธิ์ ปรมาจารย์มวยมีชื่อในพระนครและหัวเมือง และเป็นอาจารย์สอนมวยกรมพละศึกษา
 12. อาจารย์หลวงวิศาลดรุณากร (อั้น สาริกบุตร) ลูกศิษย์เอกของปรมาจารย์พระไชยโชคชกชนะ (อ้น)และปรมาจารย์ขุนยี่สารสรรพยากร เป็นครูมวยของโรงเรียนสวนกุหลาบ สมัยพ.ศ. 2464 และเป็นผู้เขียนตำรามวยไทยซึ่งกระทรวงศึกษาธิการรับรองให้ใช้เป็นหลักสูตรสอนนักเรียน  


..........แต่จากปากคำของท่านปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย ท่านได้กล่าวว่า ท่านเรียนมวยกับครูมวยทั้งหมด 13 ครู และครูมวยคนสุดท้ายของท่านก็คือ ท่านปรมาจารย์กิมเส็ง ทวีสิทธิ์

..........มวยไทยในทัศนของท่าน เป็นยิ่งกว่าการฝึกพละกำลัง มวยไทยตามแบบซึ่งบรรพบุรุษไทยสั่งสมไว้ให้แก่ลูกหลานไทย คือศิลปะแห่งการต่อสู้ป้องกันตัว

..........ในบั้นปลายแห่งชีวิต เมื่อครบเกษียณอายุราชการแล้ว ท่านได้อุทิศเวลาส่วนใหญ่อบรมกุลบุตรไทยให้ซาบซึ้งถึงวิชามวยไทย อันเป็นยอดแห่งศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว โดยได้รับเชิญเป็นวิทยากรพิเศษแก่นักศึกษาสถาบันต่างๆอยู่เนืองๆ โดยไม่ได้คิดค่าตอบแทนแต่อย่างใด ท่านได้ทำการฝึกสอนศิษย์อยู่จนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต ขณะที่มีอายุถึง 76 ปี


Back to content