..........ท่าบริหารยังมีอีกหลายท่า แต่ไม่ได้เอามาลงทั้งหมด ถ้าอยากทราบเพิ่มเติมก็เข้ามาเรียนที่บ้านช่างไทยนะครับ หรือถ้าไม่สะดวกก็ศึกษาได้จากดีวีดีที่มีจำหน่ายอยู่ขณะนี้ก็ได้ครับ ตอนนี้เรามาฝึกการย่างสามขุมกันดีกว่า
ย่างสามขุม
ตำรับท่านปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย
บรมครูมวยแห่งเมืองไชยา
ปรมาจารย์แห่งเมืองสยาม
..........เมื่อท่านผู้ฝึกฝนวิชามวยไทย ตำรับของท่านปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย ได้ฝึกตั้งแต่การเดินขาขนาน การถอย และฝึกท่าบริหารตั้งแต่ปั้นหมัด พันแขน พันหมัด พันหมัดยกเข่า พันหมัดยกเข่าย่อยืด พันหมัดยกเข่าโดด โดยเฉพาะตั้งแต่ท่าพันแขนนั้น มีการพันไปหน้าและกลับหลัง จนชำนาญเป็นสัญชาติญาณ ปฏิบัติเมื่อใดก็ไม่ผิดเพี้ยน จึงเรียกได้ว่ามีกำลังเต็มที่หรือมีกล้ามเนื้อที่พร้อมจะร่ายรำอวัยวุธให้น่าเกรงขามแก่ปรปักษ์ การยกเข่าย่างเดินพร้อมกับการพันหมัด นั่นคือหัวใจของมวยไทย หรือเรียกว่า "แม่ไม้ , ท่าครู" ซึ่งที่กล่าวมานั้นคือกิริยาอาการของการ "ย่างสามขุม" นั่นเอง
วิธีการฝึก
...........ให้ผู้ฝึกยืนอยู่บนเส้นขนาน ๒ เส้น เหมือนการฝึกการเดิน ย่อเข่าลงแบบยืนมวยข้างต้น พร้อมกับอยู่ในท่าเตรียมพันหมัด
จังหวะที่หนึ่ง
..........ยกเข่าข้างใดข้างหนึ่งขึ้นให้สูงระดับสะดือ สมมุติว่ายกเข่าขวาขึ้นระดับสะดือ ให้ผู้ฝึกปฏิบัติหมือนการพันหมัดยกเข่า ผิดกันตรงที่ต้องหมุนฝ่าเท้าข้างที่ยืน คือหมุนฝ่าเท้าซ้ายให้ไปทางซ้าย และให้อยู่บนเส้น วิธีการหมุนฝ่าเท้าให้ปฏิบัติเหมือนการเดิน และให้พันหมัดพร้อมกันไปทันที โดยพันไปข้างหน้า
จังหวะที่สอง
..........ให้วางฝ่าเท้าขวาไปข้างหน้า ให้ขนานกับฝ่าเท้าซ้ายลงบนเส้นขวา วางลงให้เต็มฝ่าเท้าโดยให้มีความรู้สึกค่อนไปทางปลายเท้า มิให้มีเสียงดัง และมิให้เอาส้นเท้าลงเด็ดขาด การยืนต้องอยู่ใลักษณะย่อและให้ทอดแขนขวาห่างจากหน้าเล็กน้อยให้เป็นมุมป้าน
ข้อควรจำ
..........ไม่เกร็งแขนทั้งสองข้าง กำหมัดสบายๆ เวลาหมุนขายืนให้หมุนนิดเดียวหรือประมาณ ๔๕ องศาของเส้นข้างที่หมุน และเวลาวาง พยายามจัดระยะแนวของฝ่าเท้าให้ห่างกันประมาณไหล่ หรือให้ปฏิบัติการหมุนและการวางนั้นให้เหมือนการเดินทุกประการ และให้ทอดแขนเป็นมุมป้านทันทีที่วางฝ่าเท้าข้างที่ยก ให้ผู้ฝึกฝึกการย่างสามขุมไปข้างหน้า โดยย่างไปตามแนวเส้นขนาน โดยให้มีความยาวของระยะการย่างพอสมควร พอถึงสุดเส้นขนาน ให้ผู้ใฝึกยืนอยู่ในท่ายืนสามขุม
ย่างถอยสามขุม
เมื่อถึงสุดเส้นขนาน และผู้ฝึกวางฝ่าเท้าข้างใดข้างหนึ่ง โดยยืนอยู่ในท่ายืนสามขุม
จังหวะที่หนึ่ง
..........ให้ผู้ฝึกยกเข่าหน้า (เข่าที่อยู่ข้างหน้าอีกเข่าหนึ่ง) ขึ้นมาอยู่ในท่าพันหมัดยกเข่า แต่ต้องระวังว่า เวลายกเข่าขึ้นมานั้น ยังไม่พันหมัด ยกขึ้นมาแต่เข่า ส่วนหมัดและแขนยังอยู่เกือบเหมือนเดิม ต่างกันตรงถดหมัดหน้าเข้ามาเป็นมุมแหลม
จังหวะที่สอง
..........ให้ผู้ฝึกหมุนฝ่าเท้าข้างที่ยืนย้อนกลับเหมือนการเดินถอย พร้อมกับพันหมัดกลับ เข่าให้ยกสูงไว้เหมือนเดิม พับขา งัดหลังเท้าเหมือนเดิม เพียงแต่จังหวะที่สองนี้ หมัดหลังจะมาอยู่เป็นหมัดหน้าด้วยท่าพันหมัดกลับ
จังหวะที่สาม
..........ให้วางฝ่าเท้าข้างที่ยกลงข้างหลัง วางลงบนเส้นของข้างที่ยก ให้ขนานกับขาข้างที่หมุน โดยวางลงในลักษณะย่อ ให้วางลงให้เต็มฝ่าเท้าโดยให้มีความรู้สึกค่อนไปทางปลายเท้า มิให้มีเสียงดัง และไม่ให้เอาส้นลงเด็ดขาด พร้อมกับการทอดแขนหน้าให้เป็นมุมป้าน
ข้อควรจำ
..........ไม่เกร็งแขนทั้งสองข้าง กำหมัดสบายๆ เวลาวางฝ่าเท้าต้องวางค่อนจากปลายเท้าและให้วางลงจนเต็มเท้า ให้จัดระยะความห่างของฝ่าเท้าให้ประมาณไหล่ของเราเอง และต้องขนานกันทั้งสองฝ่าเท้า และทอดแขนหน้าให้เป็นมุมป้านพร้อมกันเมื่อวางฝ่าเท้าทันที และเวลาหมุนฝ่าเท้าย้อนกลับ ให้หมุนเพียงนิดเดียวหรือ ๔๕ องศาเช่นกัน
..........ให้ผู้ฝึกย่างสามขุมไปหน้าและย่างถอยในแนวตรง ให้จัดระเบียบการจรดมวย การยกเข่า การงัดหลังเท้า นิ้วเท้า การย่อ การหมุน การถดแขน การทอดแขน ลำตัวตั้งตรง และที่สำคัญ ให้รักษาระดับของศอกทั้งสองข้างมิให้กางออกเด็ดขาด
..........ให้ผู้ฝึกย่างสามขุมไปและกลับ จนเป็นธรรมชาติ และมีการทรงตัวที่ดี
ประโยชน์ที่ได้รับ
..........สามารถใช้ท่าย่างสามขุมในการป้องกันตัวได้ทุกรูปแบบ ผู้ฝึกปฏิบัติจะสามารถรู้ได้ด้วยตัวของท่านเอง ว่า เมื่อตอนฝึกใหม่ๆ เราเป็นเหมือนเด็กในวิชามวยไทย แต่ขณะนี้เราเป็นเหมือนเด็กโตที่กำลังเข้าสู่วัยหนุ่มฉกรรจ์ ของวิชามวยไชยา
.........เมื่อผู้ฝึกสามารถย่างสามขุม ทั้งการย่างไปหน้าและการย่างถอยหลัง ได้อย่างคล่องแคล่วและเป็นธรรมชาติ โดยไม่รู้สึกว่าเกร็งหรือไม่ถนัดแล้วนั้น ก็เป็นที่น่ายินดีและพอใจมาก เพราะท่านได้หยั่งรากแก้วลงไปในวิชามวยไทยอย่างลึกพอสมควรเลยทีเดียว
..........และถ้าเป็นไปได้ ให้ท่านย่างสามขุมตรงข้ามกับกระจกบานใหญ่ ท่านจะสามารถเห็นตัวของท่านและสามารถสำรวจช่องโหว่หรือช่องว่างต่างๆได้ดี ยิ่งขึ้น
..........ในแต่ละวันให้ท่านแบ่งระยะเวลาการฝึกเป็นช่วงๆ เช่น ช่วงแรกบริหาร และช่วงท้ายย่างสามขุม และควรฝึกให้ติดต่อกันทุกวัน เมื่อนั้นเองท่านจะมี "แม่ไม้หรือท่าครู" ติดตามตัวท่านไปทุกหนทุกแห่ง
ย่างสามขุมสืบ ถอยถด
เมื่อย่างสามขุมแล้ว ฝึกอย่างไรต่อไป และย่างสามขุมนั้น นำไปใช้ได้อย่างไร
ย่างสามขุมสืบ
.....คือการย่างสามขุมเล่นลีลา หรือการเข้าในลักษณะเหลี่ยมเดิม เพื่อแก้ไขเหตุการณ์ หรือใช้ลูกไม้ต่างๆ การย่างสามขุมสืบไปหน้านั้นนับว่าสำคัญมาก เป็นการตกแต่งประดับประดาท่าย่างสามขุมให้แข็งแรงและแหลมคมยิ่งขึ้น
วิธีการฝึก ให้ผู้ฝึกอยู่ในท่าเตรียมพันหมัด
จังหวะที่หนึ่ง
ให้ยกย่างสามขุมในท่านิ่ง
จังหวะที่สอง
ให้วางขาข้างที่ยกให้เหมือนกับการย่างสามขุมแบบเดิม แต่วางให้ไกลกว่าเดิมเล็กน้อย พร้อมเปิดส้นเท้าหลัง
จังหวะที่สาม
ให้เคลื่อนฝ่าเท้าข้างที่เปิดส้น เข้าหาฝ่าเท้าข้างที่วาง โดยให้จัดระยะเสมอไหล่เท่าเดิม และยังคงเปิดส้นเล็กน้อย
ข้อควรจำ
.....เวลายกเข่าให้แขนหน้าทบเข้าให้ศอกเป็นมุมแหลม และทอดแขนทันทีที่วางฝ่าเท้าข้างที่ยก พร้อมเปิดส้นเท้าหลังเพียงเล็กน้อย โดยกฏเกณฑ์ต่างๆ ยังอยู่เหมือนเดิมทุกประการ
...
ย่างสามขุมถอยถด
.....เป็นการย่างสามขุมถอยหลังที่ไกลกว่าเดิม ด้วยการวางฝ่าเท้าไกลขึ้นนิดหน่อย จากนั้นจึงเคลื่อนฝ่าเท้าหน้ากลับเข้ามาในแนวขนาน และให้ห่างกันเท่าระยะหัวไหล่ทั้งสองข้าง การเคลื่อนฝ่าเท้าไปข้างหลังเรียกว่า"ถอย" การเคลื่อนฝ่าเท้าหน้าเข้ามาเรียกว่า"ถด" การย่างสามขุมถอยและถดนั้น เป็นท่าสำคัญ เพราะสามารถพลิกผันเป็นการรุก การแก้ไขอวัยวุธจากฝ่ายปรปักษ์ได้ทันที
วิธีการฝึก ให้ผู้ฝึกยืนในท่าเตรียมพันหมัด
จังหวะที่หนึ่ง
ยกเข่าข้างใดข้างหนึ่ง พร้อมพันหมัดในท่าย่างสามขุม
จังหวะที่สอง
วางขาหน้าไปข้างหลัง เหมือนย่างถอย แต่ให้ไกลกว่าเดิม พันหมัดกลับพร้อมเปิดส้นฝ่าเท้าหน้า
จังหวะที่สาม
เคลื่อนฝ่าเท้าหน้าที่เปิดส้นเข้ามาในแนวเส้นขนาน ให้อยู่ในระยะหัวไหล่ทั้งสองข้าง เปิดส้นเล็กน้อย
ข้อควรจำ
.....การหมุนขายืน การวางฝ่าเท้า เหมือนการย่างสามขุมถอยทุกประการ เพิ่มเติมการยกส้น และตำแหน่งการวางฝ่าเท้า
ให้ผู้ฝึก ฝึกการย่างสามขุมสืบ และการย่างสามขุมถอยถด ควบคู่กันไป โดยเมื่อย่างสามขุมสืบจนสุดทาง ก็ให้ย่างสามขุมถอยถดกลับมาอยู่ตำแหน่งเดิม ควรฝึกย่างสามขุม ย่างสามขุมถอย ควบคู่กันไปด้วย โดยฝึกให้มีระยะการฝึกนานพอสมควร
ประโยชน์ที่ได้รับ
.....สามารถย่างสามขุมในอิริยาบทต่างๆได้เพิ่มมากขึ้น สวยงามขึ้น และสามารถใช้การสืบหรือถอยถด พลิกแพลงใช้กับลูกไม้ในโอกาสต่อไปได้ดีอีกด้วย
...
ย่างสามขุมกระหยด
ทั้งย่างกระหยดไปหน้าและย่างถอยกระหยด
..........คำว่ากระหยดนั้นคือการกระโดดเตี้ยๆหรือสั้นๆ ไปข้างหน้าหรือถอยหลัง มีทั้งกระหยดขาเดียวและกระหยดสองขา กระหยดนั้นมีความสำคัญมาก เพื่อให้การถอยอย่างเร็วและเข้าอย่างเร็ว ที่สำคัญ หากผู้ฝึกยืนย่อขา เวลากระหยดจะเร็วกว่าการยืนแบบไม่ย่อขา กระหยดนั้น ถ้าไม่เคลื่อนที่จะเรียกว่าเป็นการกระโดดเตี้ยๆ ไม่เรียกกระหยด ดังนั้นคำว่ากระหยดจึงต้องหมายถึงการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าหรือถอยหลังด้วย แต่ไม่เคลื่อนที่ยาว เพราะถ้าหากเราเคลื่อนที่ไปไกลหรือยาวนั้นจะเรียกว่าเหิรหรือเหาะเหิร ซึ่งจะกล่าวในโอกาสต่อไป
..........ทีนี้การย่างสามขุมนั้น สามารถกระหยดได้ทั้งสองแบบ คือแบบยืนขาเดียวและแบบสองขา ถ้าหากว่าเราจะกระหยดขาเดียว เวลาเรายกย่าง เราก็ค้างขาที่ยกไว้แล้วกระโดดเตี้ยๆไปข้างหน้าหรือถอยหลังเล็กน้อย ด้วยขาที่ยืนอยู่ ถ้าหากเราจะกระหยดทั้งสองขา เราก็วางขาที่เรายกไว้ตามแบบการย่างสามขุมเสียก่อน แล้วทอดแขนหน้าไปข้างหน้าเล็กน้อย แล้วกระโดดเตี้ยๆไปข้างหน้าหรือมาข้างหลังเล็กน้อยพร้อมๆกันทั้งสองขา
..........ให้ผู้ฝึกปฏิบัติการกระหยดขาเดียวไปข้างหน้าและถอยหลัง พร้อมกันกับการฝึกระหยดสองขาควบคู่ไปด้วยกัน ด้วยระเบียบแบบแผนการย่างสามขุมธรรมดาให้ถูกต้องที่สุด
ประโยชน์ที่ได้รับ
..........เพิ่มความรวดเร็วในการเข้าออกด้วยท่าย่างสามขุม สามารถหลีก หลบ หรือถอย และยังสามารถนำมาพัฒนา ใช้กับลูกไม้ต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
ย่างสามขุมกลับตัว
..........การย่างสามขุมกลับตัวในแบบมวยไชยานั้น เป็นท่าไหวพริบในการที่จะกลับหันหน้าในแนวตรงข้าม และจะเป็นการย่างไปข้างหน้าตลอดเวลา จะกลับมาในท่าสามขุมในทิศทางตรงข้าม และย่างไปข้างหน้าเสมอ อีกทั้งยังสามารถเป็นท่าป้องกันทันที เมื่อคู่ต่อสู้อยู่ทางด้านหลัง สามารถกลับตัวแล้วย่างสามขุม ย่างสามขุมกระหยด ย่างสามขุมสืบได้อีกด้วย
วิธีการฝึก
ให้ผู้ฝึกยืนจรดมวยเหลี่ยมใดเหลี่ยมหนึ่ง(ขวาหรือซ้ายอยู่ข้างหน้า)
จังหวะที่หนึ่ง
ให้ยกขาที่อยู่ด้านหลังพร้อมหมุนขายืนไปทางด้านเดียวกับขาที่ยก และพันแขนไปด้วยในทันที และพันต่อไปอีกสองครั้งโดยพันไปทางด้านหน้า
จังหวะที่สอง
ให้วางฝ่าเท้าข้างที่ยก ไปทางด้านหน้าให้ขนานกับฝ่าเท้าหลัง โดยวางเส้นใหม่ และให้วัดระยะห่างเท่าหัวไหล่ทั้งสองข้าง และทอดแขนหน้าลงให้เป็นมุมป้าน
ข้อควรจำ
ให้กลับตัวให้รวดเร็วในท่าย่างสามขุมให้รัดกุมที่สุด
ประโยชน์ที่ได้รับ
..........สามารถต่อสู้ได้ทั้งข้างหน้าและข้างหลัง และยังทำให้การทรงตัวนั้นดีขึ้นอีก อีกทั้งการย่างสามขุมทั้งหมดก็เกือบจะสมบูรณ์เต็มรูปแบบแล้ว เมื่อผู้ฝึกย่างสามขุมไปข้างหน้าและถอยหลัง ย่างสามขุมสืบ ย่างสามขุมถอยถด ย่างสามขุมกระหยด ไปหน้าและถอยหลัง และย่างสามขุมกลับตัวจนชำนาญแล้ว นั่นหมายความว่า คำว่าแม่ไม้หรือท่าครู ของเรานั้นชัดเจนขึ้น มีลูกเล่นประดับตกแต่งเพิ่มขึ้น อีกทั้งผู้ฝึกจะเริ่มมีความเข้าใจในหลักของวิชามวยไทยโบราณมากยิ่งขึ้น และจะเริ่มรู้ได้ว่าน่าจะใช้กับอะไรได้บ้าง โดยความรู้นั้น จะขึ้นอยู่กับปฏิภาณไหวพริบของแต่ละคนไป