วิธีการใช้ลูกไม้มวยไทย
ลูกไม้มวยไทยนั้นมีมากมายหลายลูก ซึ่งในแต่ละลูกไม้ก็มีทั้งแก้หมัด แก้เตะ แก้ศอก แก้เข่า แก้ถีบ เป็นต้น ซึ่งในแต่ละตำราก็จะมีชื่อบางลูกไม้ไม่เหมือนกัน และในแต่ละลูกไม้ก็จะมีความรุนแรงต่างๆกันออกไป ซึ่งวิธีการหรือแนวทางที่จะใช้แต่ละลูกไม้ให้ได้ผลนั้น เราต้องมีการวางแผนหรือเตรียมการ ยกตัวอย่าง เราเจอกับคนที่ต่อยหนัก หรือเตะหนัก ถ้าถามว่า “ทำไมเราจะรู้ว่า คู่ต่อสู้ของเรา เตะหนัก หรือต่อยหนัก หรือออกอวัยวุธหนักอวัยวุธใด” ก็ให้รู้จักความสำคัญของท่าครู ท่าครูนั้นมีความสำคัญสำหรับยกย่าง และเป็นเกราะป้องกันในเบื้องแรก หากคู่ต่อสู้เตะมา เราก็ยกเข่ารับ หรือเอาศอกรับ หากคู่ต่อสู้ออกอวัยวุธมา เราก็ปิด ป้อง ด้วยศอก ด้วยปัด ด้วยเปิด เราก็จะประเมินน้ำหนักอวัยวุธของคู่ต่อสู้ได้
สมมุติว่าเรารู้ด้วยการรับด้วยท่าครูแล้วว่า “คู่ต่อสู้คนนี้เตะหนักและชอบที่จะเตะ” เตะที่ไหน ลักษณะเตะเป็นอย่างไร เรารับด้วยท่าครูแล้วเราก็สังเกตไปด้วย ยกตัวอย่าง คู่ต่อสู้ชอบเตะและเตะที่ลำตัว เรารู้แล้วเราก็ต้องเสแสร้ง ด้วยการทำเป็นเปิดให้เตะ แต่อย่าให้คู่ต่อสู้รู้ว่า”เราแกล้งเปิด ให้เราทำเป็นเผลอเปิด” รับรองว่า “คู่ต่อสู้ต้องเตะมาที่ลำตัวอีกแน่นอน” เราก็สามารถใช้ลูกไม้ที่เราเตรียมแก้ไขนั้น กลับไปได้อย่างเด็ดขาด โดยคู่ต่อสู้ไม่มีวันรู้ ซึ่งการใช้ลูกไม้แบบนี้จึงเป็นการฉลาด และไม่มีคำว่า “บังเอิญ” แต่ก็ยังมีการใช้ลูกไม้ที่เป็นอัตโนมัติ ด้วยการฝึกฝนแบบจำเจ ซ้ำๆจนเป็นนิสัยหรือสันดาน เช่น ปัดแล้วต้องศอก เปิดแล้วต้องกระแทก หรือกดศอกแล้วต้องเตะ อันนี้เรียกว่า “ฝึกจนเป็นสัญชาติญาณ” คือฝึกการรับรู้การกระทบ และหมายถึงทุกอย่าง ที่ต้องหมั่น ต้องพากเพียร ต้องทุ่มเท ทั้งแรงกายแรงใจ เพื่อให้ทุกอย่างนั้นเป็นชวนะ จึงจะหาได้น้อยมากที่จะฝึกได้ดังที่กล่าว ทุกอย่างที่แก้ไขไป ล้วนเป็นลูกไม้ทั้งสิ้น เช่น ต่อยมาเตะไป เตะมาเตะไป ศอกมาศอกไป
ที่สำคัญเราต้องฝึก “ลูกไม้ที่เป็นไปได้” ทำไมผมจึงกล่าวเช่นนั้น ลูกไม้มวยไทยนั้นใช่ว่าจะทำได้ทุกลูกไม้ บางตำราไปเจอภาพเขียน ก็หมายเอาว่า “เป็นตำรา” ก็นำมาผนวกเข้ากับวิชามวยไทย จึงขอให้แง่คิดเอาไว้สักนิดว่า “ช่างเขียนบางคน ก็จินตนาการ เขียนให้สวยงาม บางคนก็เขียนแบบเป็นไปได้ บางคนก็เขียนแบบเหมือนเป็นไปได้ แต่ก็เป็นไปไม่ได้” เราเป็นผู้เสพ เป็นผู้เจอและค้นหาต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะเหมือนไปเจอหนังสือนิยาย เราก็ต้องรู้ว่า “นี่คือหนังสือนิยาย” เราต้องเทียบกับความเป็นจริงและชีวิตจริงเสมอ ยกตัวอย่าง “ลูกไม้ขึ้นไปเหยียบบ่าแล้วเอาขาไปคีบคอ เอาศอกถองหัวคู่ต่อสู้” ผมขอไม่บอกว่าเป็นลูกไม้อะไร และเป็นของผู้ใด ที่อุตริคิดค้น แต่อยากให้ทุกคนลอง ให้คนขึ้นมาเหยียบบ่า เราจะยืนให้เขาเหยียบบ่าหรือ เราจะให้เขาเอาขามาเหยียบเข่าเราเพื่อจะให้ไปเหยียบบนบ่า แล้วเอาศอกถองหัวเราอีก กระนั้นหรือ ซึ่งหากเรายอม ก็แสดงว่าลูกไม้ลูกนี้ เป็นไปได้เพราะเรายอม ก็ยังมีอีกหลายลูกไม้มวย ที่อยู่แต่ในกระดาษ สวยงาม แต่ไม่มีการใช้จริง หรือไม่มีโอกาสใช้กับชีวิตจริงได้นั่นเอง
ดังนั้น วิธีการใช้ลูกไม้ ต้องเลือกใช้ลูกไม้ที่ใช้ได้จริง และเหมาะสมกับตัวของเรา หรือความถนัดของท่านเราเท่านั้น ไม่ใช่ว่า เราตัวเตี้ยมาก จะไปใช้ลูกไม้ “สักพวงมาลัย” กับคนตัวสูงกว่าเรามากๆ เราจึงต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับ ขนาด ความถนัด ส่วนสูง ของทั้งตัวเราและของคู่ต่อสู้ เราจึงจะปลอดภัยและมีความมั่นใจว่า “เราสามารถใช้ลูกไม้มวยได้อย่างเด็ดขาดและเป็นไปได้นั่นเอง”
ครูเล็กสอนมวยตอนอื่นๆ